อาจารย์ก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมผู้ออกแบบพระเมรุมาศ สถาปัตยกรรมชิ้นสำคัญของคนไทยทั้งประเทศ แรงบันดาลใจในการสร้างผลงานประวัติศาสตร์ และการน้อมนำพระบรมราโชวาทมาใช้ในชีวิต

อาจารย์ก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมผู้ออกแบบพระเมรุมาศ สถาปัตยกรรมชิ้นสำคัญของคนไทยทั้งประเทศ แรงบันดาลใจในการสร้างผลงานประวัติศาสตร์ และการน้อมนำพระบรมราโชวาทมาใช้ในชีวิต

ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน ปี 2559 ที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลมีการเปิดเผยแบบก่อสร้างพระเมรุมาศ ชื่อก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ผู้ออกแบบพระเมรุมาศถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็กลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทันที แน่นอนว่าสื่อหลายสำนักต่างเข้าคิวติดต่อสัมภาษณ์เขาเพื่อสอบถามถึงแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการทำงานออกแบบสถาปัตยกรรมชิ้นเอกที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทย

หากเล่าถึงประวัติกันอย่างย่นย่อ แท้จริงแล้วก่อนที่อาจารย์ก่อเกียรติจะเข้ามารับหน้าที่สำคัญในครั้งนี้ เขาคือมือขวาของ พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น บรมครูด้านสถาปัตยกรรมไทย อดีตอธิบดีกรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ อาจารย์ก่อเกียรติเคยมีโอกาสร่วมทำงานชิ้นสำคัญหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็นงานพระเมรุมาศ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี , ศาลาไทยที่มลรัฐวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา, การออกแบบลวดลายตกแต่งพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ในพระบรมมหาราชวัง และล่าสุดคือการร่วมออกแบบพระเมรุ ในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และเมื่อมีโอกาสได้ร่วมเสนอแบบพระเมรุมาศ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเลือกพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอดที่อาจารย์ก่อเกียรติเป็นผู้ออกแบบ และนั่นจึงเป็นที่มาในการทำหน้าที่สำคัญครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต

อาจารย์ก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ผู้ออกแบบพระเมรุมาศถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

การปรับพระเมรุมาศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชให้เข้ากับยุคสมัย
ในการออกแบบพระเมรุมาศครั้งนี้ได้รับแรงบันดาลใจมากจากพระเมรุมาศของรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 8 ครับ และการออกแบบนั้นผมได้ยึดตามที่สมเด็จครู หรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้กล่าวไว้ว่าการออกแบบพระเมรุมาศนั้นต้องสมพระเกียรติ ยิ่งกว้างเท่าไรก็เป็นการถวายพระเกียรติมากเท่านั้น สูงเท่าไรก็ยิ่งสมพระเกียรติมากเท่านั้น นอกจากนี้ในแต่ละรัชกาลยังมีความแปลกแตกต่างกันไป ยกตัวอย่างว่า สิ่งหนึ่งที่ผมได้รับแรงบันดาลใจมากจากสมเด็จครู คือการวางบันไดตรงกลางเพื่อให้ดูโดดเด่นในเชิงของการวางผัง รวมถึงยังนำอีกหลายๆ งานของสมเด็จครูมาลดทอน ดัดแปลงให้ดูเรียบขึ้นครับ

ที่มาที่ไปที่พระเมรุมาศมีการติดตั้งรูปปั้นคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยงของในหลวง รัชกาลที่ 9
สำหรับรูปปั้นคุณทองแดงนั้น จะเป็นเรื่องประติมากรรมในการตกแต่งสิ่งที่อยู่คู่กับพระองค์ครับ เป็นสุนัขทรงโปรดและทรงมีความผูกพัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีรับสั่งว่า น่าจะนำเรื่องนี้มาทำประติมากรรมประกอบบนพระเมรุมาศด้วย ซึ่งในอดีตเคยมีการทำแบบนี้มาแล้วเมื่อครั้งที่เป็นงานพระเมรุของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ครั้งนี้เราปั้นขึ้นมาใหม่ ทำมาในสัดส่วนเท่าสุนัขจริง

ข้อกำหนดในการจัดสร้างพระเมรุมาศ
หนึ่ง ต้องมีพระเมรุมาศเป็นองค์ประธานของมณฑลพิธี พระเมรุมาศต้องมีหอเปลื้อง ไว้สำหรับเก็บพระโกศ พักพระโกศทองใหญ่ พักหีบจันทร์ พักโกศจันทร์ ตอนถวายพระเพลิง เพราะเมื่ออัญเชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นไปบนเมรุมาศแล้ว จะมีการเปลื้องพระโกศทองใหญ่ออกไป แล้วเปลี่ยนไปหุ้มด้วยพระโกศจันทร์ พอจะถวายพระเพลิงก็เปลื้องพระโกศจันทร์เก็บ นอกจากนี้ยังต้องมีอาคารประกอบ นั่นคือ พระที่นั่งทรงธรรมซึ่งตั้งอยู่ด้านหลัง ศาลาลูกขุน และรั้วราชวัติ แสดงความเป็นขอบเขตของมณฑลพิธี ส่วนด้านนอกเขตมณฑลพิธี จะมีอาคาร พลับพลายกที่สนามหลวงและวัดโพธิ์ เกยลาซึ่งอยู่หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พร้อมด้วยราชรถและราชยาน ซึ่งการออกแบบพระเมรุมาศทั้งหมดนั้นจะยึดตามหลักไตรภูมิ โดยมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงการใช้วัสดุ ความงามตามหลักสุนทรียศาสตร์ รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆที่มีความสำคัญลดหลั่นกันไป

การสร้างพระเมรุมาศถวายให้กับรัชกาลที่ 9 ก็คือศิลปะในรัชกาลที่ 9
การสร้างพระเมรุมาศถวายให้กับรัชกาลที่ 9 ก็คือศิลปะในรัชกาลที่ 9 ทั้งหมดอยู่แล้วครับ แต่สร้างโดยรัชกาลที่ 10 ส่วนองค์ความคิดนั้นผมได้มาจากประสบการณ์ตอนช่วยทำพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยท่านอาวุธ เงินชูกลิ่น แนะนำว่า สมเด็จฯ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ ท่านเป็นพระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เราน่าจะทำพระเมรุ ให้เหมือนมุขโถงทิศตะวันออกของพระปฐมเจดีย์ ซึ่งเป็นลักษณะศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 6 สำหรับครั้งนี้ แนวคิดที่ผมใช้ตั้งโจทย์คือ มีศิลปกรรมที่ใดบ้างที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 เคยมีพระกระแสรับสั่ง เมื่อสืบค้นจึงพบว่าพระองค์เคยมีพระราชดำริให้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่พระพุทธรัตนสถาน ในพระบรมมหาราชวัง ในรูปแบบร่วมสมัย คือเขียนกล้ามเนื้อมนุษย์ให้เสมือนจริง แต่ยังคงลวดลายประกอบของศิลปะแบบไทยประเพณี ผมจึงนำไอเดียตรงนี้มา ดัดแปลงให้เป็นยุคของพระองค์ เช่นเดียวกับรูปแบบของฉากบังเพลิงรวมทั้งประติมากรรมประกอบ

การเริ่มงานตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม ปี 2559 กับสถานการณ์ซึ่งที่คนไทยทั้งประเทศกำลังอยู่ในภาวะเศร้าโศกเสียใจ
ในเวลานั้นผมร้องไห้อยู่แล้วครับ ใครบ้างจะไม่ร้องไห้ แต่เมื่อได้ยินสิ่งที่ สมเด็จพระเทพฯ ทรงมีรับสั่งกับนักเรียน โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) ในฐานะทูลกระหม่อมอาจารย์ว่า ‘ให้ทำหน้าที่ภารกิจของเรา อย่าตกใจ อย่าเสียขวัญ อย่าท้อถอย ใครมีหน้าที่สานต่อให้ดีที่สุด การมัวแต่ร้องไห้นั้นไม่มีประโยชน์ แต่การทำงานถวายพระองค์ท่านให้ดีนี่แหละดีที่สุด’ ผมเลยทุ่มเทเต็มที่ เพราะการที่ผมได้ทำงานนี้เป็นเหมือนปาฏิหาริย์ในชีวิตของผมเลยนะครับ ซึ่งการทำงานลักษณะกดดันแบบนี้ผมทำมาหลายครั้งแล้ว เราจึงต้องฝึกคิดสร้างสรรค์ในภาวะกดดัน เราซ้อมจนเป็นนิสัย ทำกันจนเป็นกิจวัตรกับท่านอาวุธ ตอนนั้นผมคิดอย่างเดียวว่า โอกาสมาใกล้ถึงเราแล้ว เราต้องทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด

กระบวนการในการทำงานหลังจากที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงเลือกแบบ
ในเบื้องต้น ภาพรวมต้องเป็นคนเดียวครับ แล้วก็มีคนที่เป็นคู่คิดมาช่วย มาตีความว่าน่าจะเป็นอย่างนี้นะ ซึ่งผมเองก็มีกรอบวิธีคิดของผม โดยอิงหลักการทำงานนี้ 4 ข้อ ที่ได้รับมาจากครูหลายท่านที่สอนผม 1 ทำความคิดให้ออก มาจากอาจารย์ประเวศ ลิมปรังษี ท่านเป็นผู้ออกแบบพระเมรุมาศของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 และอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร ทั้งยังช่วยกล่อมเกลาทางความคิดให้ผม ครั้งหนึ่งท่านเคยบอกว่า การออกแบบพระเมรุมาศหรือพระเมรุนั้น คิดเพียงข้อเดียวเลยว่าเราออกแบบเพื่อใคร และเมื่อเราออกแบบเพื่อพระเกียรติยศสำหรับพระมหากษัตริย์ รูปแบบทั้งหมดจะตามมาเอง ทั้งรูปแบบเมรุมาศจะมีลักษณะอย่างไร สีที่จะใช้ในงานควรเป็นสีอะไร การใช้ฉาก หรือเครื่องประกอบทั้งหลาย แนวทางการทำงานจะเกิดขึ้นในหัวเราทันที
เมื่อเราคิดออก ต่อมาเรื่องที่ 2 คือ เราต้องเขียนให้ได้ ต้องเขียนลายเส้นออกมาเป็นแบบ พอแบบผ่านก็มาลงรายละเอียด อย่างที่ 3 คือทำให้ถูก การออกแบบนั้น กรมศิลปากรถือว่าสำคัญมาก ต้องถูกต้องตรงตามฉันทลักษณ์ ถูกต้องตามคติความเชื่อประเพณีต่างๆ ถูกต้องตามฐานานุศักดิ์ ถูกต้องตามหลักไตรภูมิที่เอามาบางส่วน ไม่ให้เกิดข้อผิดเพี้ยนมากจนเกินไป เท่านั้นยังไม่พอ อย่างที่ 4 ต้องทำให้สำเร็จ ช่าง ผู้ออกแบบหรือสถาปนิก ศิลปินต่างๆ จะล้มเหลวด้านนี้เยอะ เพราะว่ารออารมณ์ ความรู้สึก เราฝึกตรงนี้มาหลายครั้ง เราฝึกที่จะต้องไม่รอมัน เราทำเป็นเวลา เป็นแผนอะไรต่างๆ เหล้าสุราเราก็ไม่ได้เน้นดื่ม คุณอาวุธท่านพูดเน้นข้อนี้เลย เพราะท่านเป็นนักบริหารจัดการ ท่านบอกไว้เลยว่า งานดี ไม่ทันเวลา คุณค่าไม่มี เราจะออกแบบให้ดีอย่างไร มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับงานครั้งนี้ ถ้าเราจะทำงานใหญ่ จะสำเร็จได้ ความสำเร็จต้องมาก่อน บางทีอาจจะไม่พร้อม ไม่ดี แต่ไม่ดีประมาณไหนล่ะ อย่างไรก็ต้องให้งานสำเร็จออกมาได้ ยกตัวอย่างงานพระเมรุมาศนี้ ถ้าถามว่าใช้เวลาขนาดนี้ไม่เพียงพอนะครับ 2 ปียังไม่พอเลยครับ แต่เราก็ใช้ความเพียร การบริหาร จัดการ ทำให้สำเร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ได้

แรงบันดาลใจที่ได้รับจากในหลวง รัชกาลที่ 9 กับผลงานชิ้นสำคัญ และการนำแนวทางของพระองค์มาปรับใช้กับชีวิต
ผมว่าพระองค์เป็นแบบอย่างให้กับเราในทุกๆ เรื่องอยู่แล้ว แต่ผมมองเรื่องของความเพียรและความอดทนของพระองค์ แล้วเราบอกกับเพื่อนๆ ด้วยกันว่า พระองค์ทรงงานมาตั้ง 70 ปี เราเองทำแค่ไม่กี่เดือน จะหนักแค่ไหน มันก็คงจะผ่านไป แต่อย่างไรก็ต้องทำให้งานนั้นสมพระเกียรติที่สุด นี่คือสิ่งที่เรามองพระองค์แล้วพระองค์ฉายมาที่เรา หรือไม่ก็เรื่องพระบรมราโชวาทของพระองค์ที่ว่า ‘ถ้ากลัดกระดุมเม็ดแรกผิด เม็ดต่อไปมันก็จะผิด’ เพราะฉะนั้นการเริ่มต้นเป็นเรื่องสำคัญ หรือ ‘การทำดีนั้นทำยาก แต่เมื่อได้มาแล้ว เราก็ต้องรักษาให้ได้’ ผมก็นำมาใช้ในชีวิตเหมือนกัน เพราะการครองตนหรือการทำงานนั้น บางครั้งมันก็เป็นยาขมขนานเอกเลยนะที่เราได้เจอ แต่เราจะทนในสิ่งนี้และผ่านไปได้อย่างไร เช่น ถ้างานไม่เสร็จสักที แล้วเราไม่อยากเห็นผู้ใหญ่ไม่สบายใจ เราก็ต้องมานั่งก้มหน้าก้มตาทำงานเพื่อให้งานประสบความสำเร็จและมันจะประกาศในตัวของมันเอง หรือในเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตนผมก็ใช้มากเหมือนกัน เพราะว่าเรามียศที่น้อยและเราเป็นคนที่เสียงน้อยที่สุดหรือไม่ก็เราไม่อยากจะเกิดความขัดแย้งนี้มา ข้อท้วงติงของเรา เรามีในเชิงความคิด แต่เมื่อท่านบอกว่าอย่างนั้นแล้ว ต้องเป็นอย่างนั้น เหมือนกันกับการทำงานให้คุณอาวุธ ท่านบอกว่า เราต้องทำตามที่ท่านบอกให้ได้ก่อน แล้วจึงมาวิเคราะห์วิจารณ์ มาแลกเปลี่ยน ถ้าไม่ดีจริงๆ เราก็ต้องมีกุศโลบายอะไรหลายๆ อย่างในการทำงานร่วมกับท่าน เพื่อให้ร่วมงานกันได้อย่างราบรื่น

ความสามัคคีของพสกนิกรคนไทยที่ต้องการทำถวายในหลวงรัชกาล 9
มันเป็นเรื่องมหัศจรรย์ครับ ต้องบอกก่อนว่า ทุกคนที่ได้มาร่วมงานของพระองค์นั้น ทุกคนล้วนมาด้วยความเต็มใจ แม้แต่แค่มีส่วนร่วมในการเก็บขยะในที่ที่ก่อสร้างพระเมรุมาศ เขายังจะยอมมาทำ ไม่ใช่น้อยๆ นะครับ ส่วนคนที่ทำงานอยู่ด้วยกันก็จะไม่ขัดแย้ง หรือถ้ามีก็น้อยมาก เพราะทุกคนมีเป้าหมายเดียวคือทำเพื่อในหลวง รัชกาลที่ 9 ถึงจะมีแววขัดแย้งผมก็จะปรับจิตใจ ค่อยๆ คุยกับเขา หรือถ้าเขาไม่คุยกับเรา เราก็จะเฉยๆ ไม่ไปซ้ำเติมให้เขาเสียหาย ถ้าถามถึงเรื่องความสามัคคี ตอบได้เลยครับว่าชัดมาก อาสาสมัครเที่ยวนี้เยอะมาก เขามาแบบไม่เอาอะไรเลย มาช่วยฟรี เอาขนม อาหารมาให้
อีกเรื่องหนึ่งที่เห็นชัดคือ เราเห็นความปรารถนา ความศรัทธา ความมุ่งมั่น ความอดทนของหลายๆ ท่านที่เขามานั่งทำงานกับเรา เช่น อาจารย์ที่จุฬาฯ เขาจะขอมาศึกษาเขียนแบบกับเราด้วย บางท่านอยากจะเขียนคัดส่วนยอดตั้งแต่ยอดหอเปลื้อง สร้างบุษบก เขาไปคัดเส้นของเราหมดเลยครับ เราก็รู้สึกยินดีมาก แล้วก็ให้เขาทำเลย เพราะเขาจะได้นำความรู้ตรงนี้ไปถ่ายทอดกับลูกศิษย์ เหมือนกันกับที่ในหลวงบอกว่า อย่าเก็บความรู้ไว้กับตัว เราก็ต้องถ่ายทอดออกไป ถ้าอยู่กับเราหมดคนเดียว มันก็ตายไปคนเดียว อยู่กับเขา เขาจะไปถ่ายทอดให้เด็กอีก 10-20 คน เป็นร้อยหรือมากกว่าไปอีก เขาเข้าถึงตรงนี้ได้ เป็นการถ่ายทอดความรู้ เป็นต้นครับ และยังมีอาจารย์อีกหลายท่านมาก มีความตั้งใจและมีความเพียรมาก ทั้งนี้ก็เพื่อในหลวง รัชกาลที่ 9 ครับ

งานสำคัญครั้งใหญ่ที่ผ่านไปได้ด้วยพระบารมี
มีหลายงานเลยนะครับที่เหมือนจะยาก แต่กลับกลายเป็นง่าย เหมือนว่าเราคิดจะทำอะไรหรือจะหาอะไร เราจะหาเจอโดยบังเอิญ มีครั้งหนึ่งจะไปเปิดหนังสือ แล้วก็เปิดหน้านั้นเลย กำลังจะหาเรื่องของฉัตรก็เจอเลย หาเรื่องพระจิตกาธานหรือซุ้มบันแถลง วันนั้นเลยลองไปเปิดหนังสือเล่มหนึ่งแล้วก็เจอเลย บางเรื่องมองดูแล้วว่าไม่น่าจะทันเวลาแน่นอน แต่กลายเป็นว่าคนหลั่งไหลมาจากไหนไม่รู้ มาช่วยทำงานให้ชิ้นนี้เสร็จไปได้ บางคนก็เข้ามาช่วยงานเราได้เหมาะเจาะกับหน้าที่ที่ต้องการและเขามีความสามารถพอดี
หรือในการร่างแบบพระเมรุมาศเพื่อเสนอภายในคืนเดียว แล้วได้ถึง 5 แบบ ก่อนที่สมเด็จพระเทพฯ จะทรงเลือกหนึ่งในแบบที่ผมนำเสนอก็เป็นเรื่องที่ผมอัศจรรย์ใจมากครับ หรือในความยากของงานคือในปริมาณงานที่มากขนาดนี้ ผมว่ามันน่าแปลกมากเลย แต่ละส่วนๆ มีคนเติมให้ตลอด เวลาที่เหมือนจะมีความขัดแย้ง ผมจะนึกถึงพระจริยวัตรของในหลวงทรงวางพระองค์อย่างอ่อนน้อม ถ่อมตน เวลาเสด็จฯ ไปเยี่ยมเยือนราษฎรณ์จะทรงโน้มพระวรกายไปหา นั่งพับเพียบ คุยกับชาวบ้านอย่างไม่ถือพระองค์ เหมือนสุภาษิตไทยที่พูดถึงรวงข้าวที่เต็มไปด้วยเมล็ดข้าวแล้วโน้มลงไปสู่แผ่นดิน เราก็นำวิธีการมาเทียบเคียงกัน ใช้ความยืดหยุ่น แต่ต้องใช้อย่างชาญฉลาด ไม่ใช่ใช้ตลอดนะครับ บางครั้งเราโอนอ่อนก็เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่องาน แต่ถ้าบางเรื่องเราทำแบบนี้แล้วเกิดผลเสียต่องาน เราต้องแข็งแกร่งละ ต้องมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวขึ้นมา

ความรู้สึกที่ได้เป็นส่วนร่วมในงานชิ้นสำคัญ
การได้ทำงานครั้งนี้ต้องบอกก่อนว่า ไม่ใช่เรื่องของความภูมิใจหรือดีใจใดๆ เลยทั้งสิ้น การได้ทำงานพระเมรุมาศคือการสูญเสียพระมหากษัตริย์ของเรา เราทำงานครั้งนี้ด้วยความรู้สึกที่ต้องการจะทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดเพื่อที่จะถวายพระองค์ครั้งสุดท้าย ทำพระเมรุมาศครั้งนี้ให้เป็นศิลปกรรมของโลก นี่คือสิ่งที่เราคิดไว้ครับ

สิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงมอบไว้ในใจ
ที่พระองค์เคยตรัสว่า คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง ผมว่าใช่เลย เราเจอคนที่ ‘ใช่’ สำคัญกว่าคนที่ ‘เก่ง’ เรื่องนี้ผมเจอแล้วนะ คนที่ทำงานร่วมกับผม ไม่ใช่คนที่เก่งมากที่สุด แต่เราจะทำให้คนกลุ่มนี้ทำงานเราสู่เป้าหมายได้อย่างไร ความดี ความซื่อตรง ความอดทน ความเพียร ความมัธยัสถ์ คือสิ่งสำคัญ ผมเองมีพระองค์เป็นแบบอย่าง เราก็เลยนำวิธีคิดของพระองค์นั้นมาใช้ หรือความพอเพียง ผมน้อมนำสิ่งเหล่านี้เข้ามาสู่วิถีชีวิต เราไม่ได้มองเรื่องของความฟุ้งเฟ้อ เรามองเรื่องของความพอที่จะใช้สำหรับครอบครัว เราไม่ต้องมีรถที่หรูมาก แค่มีรถขับรถไปไหนได้ พระบรมราโชวาทของพระองค์นั้น ถ้านำไปใช้ให้เกิดกับครอบครัว สมาชิกในครอบครัวก็จะเป็นคนดีของสังคม เป็นกำลังสำคัญของประเทศและของโลกครับ

 

✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦
ติดตามนิตยสาร OK! Magazine Thailand ได้ที่นี่
♥ Website : www.okmagazine-thai.com
♥ Instagram : www.instagram.com/okmagazinethailand
♥ Facebook : www.facebook.com/okmagthailand
♥ Twitter : twitter.com/okthailand

 

 

Comments

comments

okadmin

นิตยสาร OK! เป็นนิตยสารรายแรกและเพียงรายเดียวที่อัพเดตข่าวคราวของเหล่าดาราทั้งในและต่างประเทศได้อย่างเจาะลึกทุกซอกทุกมุม รวมทั้งเรื่องส่วนตัวของเหล่าศิลปินและดาราสุดเอ็กซ์คลูซีฟ

RELATED ARTICLES

ความสุขที่อยู่กับปัจจุบันของ พัคยูชอน ศิลปินและนักแสดงมากฝีมือที่หลายคนคิดถึง

ความสุขที่อยู่กับปัจจุบันของ พัคยูชอน ศิลปินและนักแสดงมากฝีมือที่หลายคนคิดถึง

กลับมามีรอยยิ้มเปื้อนใบหน้าอีกครั้ง! แม้จะยังไม่สดใสเท่าเดิม อีกทั้งรู้ว่าหนทางข้างหน้าอาจไม่ได้ราบเรียบหรือโรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนเช่นเดิม หลังต้องเผชิญกับมรสุมชีวิตที่ถาโถมเข้ามาอย่างหนักในช่วงปีที่ผ่านมา [...]

READ MORE
ฉีก 5 เนื้อเพลงเด็ดของหนุ่มรูลสุดหล่อ สะท้อนมุมมองความรักของคนรุ่นใหม่

ฉีก 5 เนื้อเพลงเด็ดของหนุ่มรูลสุดหล่อ สะท้อนมุมมองความรักของคนรุ่นใหม่

ต้อนรับเทศกาลวาเลนไทน์ในปีนี้ เราขอนำเสนอเรื่องราวความรักวัยใสของรูล นักร้องนักแต่งเพลงวัยรุ่นชาวออสเตรเลียวัย 17 [...]

READ MORE