
แม้กาลเวลาจะผันผ่าน แต่ภาพวันวาน เมื่อครั้งอดีตของ ท่าเตียน ย่านการค้าเก่าแก่ฝั่งพระนครก็ยังคงสะท้อนอยู่บนวิถีชีวิตชุมชน ตลอดจนสถาปัตยกรรม และภูมิทัศน์โดยรอบ เริ่มตั้งแต่ อาคารพานิชย์สองชั้น สไตล์โคโลเนียล สีเหลืองดูอบอุ่น ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนจะถูกปรับปรุงในปี พ.ศ. 2556 จนเป็นเอกลักษณ์คู่ถนนมหาราช, ชุมชนการค้าอย่าง ปากคลองตลาด ที่ไม่ได้มีแค่ร้านดอกไม้ ผลไม้ หรือแหล่งขายส่ง แต่โดยรอบยังซุกซ่อนคาเฟ่และร้านอาหารน่ารักๆ ให้เราค้นหา, วัดวาอารามอันงดงามที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของสองฟากฝั่งแม่น้ำท่าจีนอย่างเช่น วัดโพธิ์ วัดที่มีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับการรบกันของยักษ์สองตนระหว่าง ยักษ์จีน (วัดโพธิ์) – ยักษ์ไทย (วัดแจ้ง) จนเป็นอีกตำนานที่มาของชื่อ “ท่าเตียน” หรือกระทั่งการเป็นย่านที่รายล้อมด้วยแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ อย่างเช่น มิวเซียมสยาม ที่รอต้อนรับผู้สนใจทุกคนที่มาเยือน

ด้วยมนต์ขลังนี้เอง “ท่าเตียน” จึงไม่ได้เป็นแค่ย่านการค้าเก่าแก่ที่พลุกพล่านไปด้วยพ่อค้าแม่ขาย หรือเต็มไปด้วยรถรับ-ส่งนักท่องเที่ยวริมฝั่งถนน แต่ที่นี่ยังถือเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่มีเสน่ห์และน่าค้นหา โดยเฉพาะสำหรับนักท่องเที่ยวและช่างภาพที่ต้องการสัมผัสและเก็บเกี่ยวมุมมองอันหลากหลายผ่านเลนส์กล้องบันทึกภาพคู่ใจ ไม่ว่าจะเป็นกล้องดิจิตอล กล้องฟิล์ม หรือกล้องโทรศัพท์มือถือก็ตาม

เป็นเรื่องดีที่เทคโนโลยีในปัจุบัน ทำให้เราไม่ต้องแบกกล้องใหญ่ๆ เพื่อให้ได้ภาพสวยๆ สักชุด แต่สามารถเก็บภาพประทับใจได้ง่ายๆ ผ่านเลนส์กล้องโทรศัพท์มือถือ แต่นอกเหนือจากเรื่องของเทคโนโลยีที่ทำให้การถ่ายภาพของเราง่ายขึ้นแล้ว มุมมองและเทคนิคการถ่ายภาพก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราได้ภาพที่มีความโดดเด่น รวมทั้งถ่ายทอดความรู้สึก ณ ขณะนั้นได้ดีกว่า ดังนั้น วันนี้เราจึงมาแบ่งบันเทคนิคการถ่ายภาพสวยๆ ด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือ บนพื้นหลังของย่านเก่าแก่อย่าง “ท่าเตียน” ที่จะทำให้เราสัมผัสถึงมนต์เสน่ห์ของที่นี่มากกว่าที่เราหลายคนเคยสัมผัส…
1. เตรียมตัวและหาข้อมูล
เพราะเทคนิคการถ่ายภาพไม่ได้เป็นแค่เรื่องหน้างานหรือทำได้เฉพาะขณะเก็บภาพเท่านั้น แต่สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็น…
• หาข้อมูลสถานที่
เพื่อใช้คำนวนทิศทางแสงในช่วงเวลาต่างๆ ให้เหมาะสมกับตำแหน่งที่ตั้งของสถานที่นั้นๆ ได้ โดยเฉพาะภาพที่ต้องการเล่นกับแสงและเงา ตลอดจนเพื่อเก็บตัวอย่างภาพถ่ายในแต่ละมุม ที่เราอาจใช้เป็นต้นแบบหรือแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพแบบต่างๆ ของเราต่อไป เช่น ภาพวัดอรุณจากฝั่งท่าเตียน หากต้องการให้พระอาทิตย์อยู่เบื้องหน้าคู่องค์พระปรางค์สวยๆ เราควรเลือกถ่ายยามเย็น เพราะในช่วงเช้า พระอาทิตย์จะอยู่ด้านหลังของเรา หากมาผิดช่วงเวลาจึงอาจทำให้เสียเวลาหรือพลาดได้ภาพที่ต้องการ

• เตรียมอุปกรณ์ที่เหมาะสม
เมื่อเรารู้มุมคร่าวๆ เกี่ยวกับสถานที่เป้าหมาย หรืออาจได้ไอเดียการถ่ายภาพเก๋ๆ เช่น การถ่ายภาพพาโนราม่า, การถ่าย Portrait แบบแนวๆ, ถ่าย Candid เผลอๆ, ถ่ายมุมแปลกๆ เล่นกับแสง หรือเงาสะท้อนบนน้ำ ฯลฯ สิ่งที่เราต้องเตรียมในเวลาต่อมาก็คือ อุปกรณ์ตัวช่วยที่จำเป็นต่อการถ่ายภาพ เช่น ขาตั้งกล้อง, ไม้เซลฟี่, น้ำ, ปริซึม หรือกระทั่งอุปกรณ์เสริมสำหรับจับภาพระยะไกลที่หลายคนนึกไม่ถึง เช่น iWatch สำหรับผู้ใช้ iPhone ที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ และใช้กดถ่ายภาพระยะไกล สำหรับหลายๆ คนที่อาจไปเที่ยวคนเดียว แต่ไม่อยากรบกวนคนแปลกหน้า หรืออยากได้ภาพในระยะไกลแบบเต็มตัว ไม่ใช่แค่ภาพถ่ายเซลฟี่ล้วนๆ

• เตรียมเสื้อผ้าหรือพร็อพเพิ่มเติม
ข้อดีของการรู้ว่าเรากำลังจะไปเจอสถานที่แบบใด ยังช่วยในเรื่องการวางแผนการแต่งตัวของเราหรือนาง/นายแบบให้มีมูดแอนด์โทน (Mood and Tone) เข้ากับสถานที่นั้นๆ ซึ่งจะช่วยในการสร้างเอกลักษณ์ให้ภาพของเราดูมีคอนเซ็ปต์และสื่ออารมณ์ได้ดียิ่งขึ้น
2. ช่างสังเกต
นอกจากกล้องโทรศัพท์มือถือจะมีขนาดเล็กสะดวกพกพาแล้ว ยังมาพร้อมเทคโนโลยีจับภาพอัจฉริยะและมีความว่องไวกว่าแต่ก่อน ช่วยให้เราไม่พลาดทุกช่วงจังหวะประทับใจ แต่การที่เราจะสามารถมองเห็นจังหวะนั้นได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับตัวผู้ถ่ายเองว่าสามารถสังเกตเห็นหรือเก็บรายละเอียดรอบตัวได้ดีเพียงใด ที่สำคัญคือความว่องไวของตัวเราเองว่าจะสามารถคว้ามือถือแล้ว แชะ! ทันหรือไม่ ทั้งนี้ สำหรับผู้ใช้ iPhone อาจเลือกใช้งานฟีเจอร์ Live Photo ในการเก็บภาพเป็นแบบเคลื่อนไหวและคัดเลือกเฟรมภาพถ่ายถูกใจภายหลัง เพื่อเป็นอีกตัวช่วยให้เราไม่พลาดทุกจังหวะสำคัญก็ได้

3. สนุกกับมุมมองที่แตกต่าง
เมื่อเราจับรายละเอียดรอบตัวได้แล้ว ต่อมาก็คือการสนุกไปกับการนำเสนอเรื่องราวให้มากกว่าที่ตาเห็น โดยอาจเล่นกับแสงเงา หรือเปลี่ยนมุมมองให้ได้มิติที่แตกต่าง
• เล่นกับแสงเงา
แสงค่อนข้างมีอิทธิพลกับการถ่ายภาพมาก ไม่ใช่ว่าสถานที่แห่งเดียวกัน มุมเดียวกัน แบบเดียวกัน จะถ่ายรูปออกมาสวยเหมือนกันหมด ขณะเดียวกันแสงที่มากไปหรือน้อยไปล้วนไม่ส่งผลดีกับภาพของเรานัก แม้บางครั้งการปรับแสงที่กล้องมือถือจะช่วยได้ แต่ก็ไม่เสมอไป ดังนั้น จงเรียนรู้ธรรมชาติของแสงและสนุกไปกับมันให้ถูกจังหวะ สำหรับวงการถ่ายภาพจะเป็นที่รู้กันว่าแสงสวยๆ ที่ราคาถูกที่สุด ไม่ใช่ไฟนีออน หรือหลอดไฟ LED แต่คือ “แสงธรรมชาติ” โดยช่วงเวลาที่แสงเหมาะกับถ่ายภาพที่สุด คือ ช่วงเช้า เวลา 8.00 – 10.00 น. และช่วงเย็น เวลา 15.00 – 17.00 น. ซึ่งแสงที่ได้จะไม่แรงมากและให้องศาตกกระทบที่ดี ภาพที่ได้จึงมีโอกาสได้แสงเงาที่สวยงามกว่า

อย่างไรก็ตาม เราสามารถสนุกไปกับแสงเงาได้อีกหลายเทคนิค ไม่ว่าจะเป็น การถ่ายรูปย้อนแสง, การใช้แสงทอดกระทบขอบเลนส์ ในองศาที่พอเหมาะ หรือ การใช้วัตถุประชิดมุมกล้องเล็กน้อย โดยเล่นกับการตกกระทบของแสง ก็จะได้โฟร์กราวนด์ (Foreground) เบลอๆ ฟุ้งๆ เพิ่มความสวยงามให้กับภาพไปอีกแบบ

ในส่วนของเงานั้น ไม่เพียงช่วยเพิ่มมิติให้แก่ภาพ แต่เรายังสามารถสนุกไปกับเงาในรูปแบบต่างๆ ได้ ทั้ง การใช้เงาดำตกกระทบกับวัตถุ หรือเล่นกับ เงาสะท้อนจากกระจกหรือผิวน้ำหรือวัตถุแวววาวอื่นๆ ทำให้ได้ภาพเก๋ๆ ล้ำๆ ไม่เหมือนใคร ดังนั้น ลองมองหากระจกมุมดีๆ หรือเทน้ำบนพื้น แล้วใช้มือถือจ่อประชิด และถ่ายมุมเสยขึ้นมา เราอาจได้ภาพในมุมมองที่ต่างออกไปก็เป็นได้

• เล่นกับมุม
ไม่ว่าจะมุมช้อน มุมเสย มุมกด เบี่ยงซ้าย-ขวา หน้าตรง หรืออะไรก็ตาม อยากให้ทุกคนได้ลองหาหลายๆ มุม มากกว่าการใช้กล้องมือถือจ่อเพียงระดับสายตาอย่างเดียว ขณะที่ภาพแนวระนาบหน้าตรงก็ควรระวังการถ่ายภาพไม่ให้ทำมุมเอียงหน้า-หลัง-ซ้าย-ขวา เกินไป จนพลาดเส้นพื้นหลังสวยๆ ที่อาจทำให้ภาพของเราดูมีความเป็นมืออาชีพมากกว่า

• เล่นกับสีและรายละเอียด
ไม่จะเป็นภาพสีหรือภาพขาวดำ ต่างล้วนมีเสน่ห์ในตัวเอง แม้จะเป็นเพียงวัตถุธรรมดา แต่หากเรารู้จักสังเกตและหยิบจับมุมเด่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความเหมือนหรือแตกต่างของสี ความเข้ากันดีของรูปทรงวัตถุ หรือลวดลายพื้นผิวต่างๆ ก็สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตภาพสวยๆ ของเราได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะสำหรับภาพขาวดำด้วยแล้ว เรียกว่าสามารถใช้เป็นไม้ตายสุดคลาสสิกได้หลายโอกาส เพราะสามารถเปลี่ยนภาพสีธรรมดาๆ ให้กลายเป็นภาพที่แฝงไปด้วยอารมณ์ที่มากกว่าในหลายครั้ง ด้วยการเล่นกับแสงเงา รูปทรง พื้นผิว หรือองค์ประกอบอื่นๆ ในภาพแทน

• เล่นกับระยะวัตถุ
การเล่นกับระยะความชัดตื้นของวัตถุเป็นอีกเทคนิคที่ทำให้ภาพดูมีมิติและช่วยแยกวัตถุออกมาให้ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะการปรับ “หน้าชัด-หลังเบลอ” โดยโฟกัสที่วัตถุด้านหน้าแล้วละลายพื้นหลัง หรือใช้วัตถุด้านหน้าเป็นโฟร์กราวนด์ (Foreground) แล้วโฟกัสวัตถุด้านหลัง เกิดเป็นภาพ “หน้าเบลอ-หลังชัด” ก็เป็นอีกวิธีที่ทำให้วัตถุโดดเด่นและดูเป็นมืออาชีพมาขึ้น ยิ่งสำหรับกล้องมือถือปัจจุบันที่สามารถปรับความละลายได้หลายระดับหรือฟีเจอร์ที่รองรับการถ่ายในลักษณะต่างๆ ด้วยแล้ว ถือเป็นตัวช่วยชั้นดีเลยทีเดียว

4. องค์ประกอบภาพ
การจัดองค์ประกอบภาพมีหลายเทคนิคด้วยกัน แต่จะมีอยู่ 4 ข้อหลักๆ ที่เราได้ใช้กันบ่อยๆ และควรคำนึง คือ เรื่องของเส้นนำสายตา เส้นทแยง กฏสามส่วน และการสมมาตร ซึ่งทั้งหมดจะช่วยทำให้ภาพของเราดูมีสัดส่วนที่สมดุลและดึงสายตาได้มากกว่า

5. การสื่อสาร
ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารของภาพ หรือการสื่อสารกับนาง/นายแบบ เป็นอีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม แม้การถ่ายภาพจะเป็นศิลปะอีกแขนง แต่หากขาดการสื่อสารที่ดี ภาพที่ได้ก็อาจเป็นเพียงภาพถ่ายธรรมดาที่รับรู้ด้วยตา แต่ไม่สามารถสัมผัสได้ด้วยความรู้สึก และเป็นเพียงภาพที่แสดงสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าเลนส์เท่านั้น ดังนั้น ลองบอกสิ่งที่เราต้องการ เพื่อให้นาง/นายแบบสามารถถ่ายทอดท่าทางหรือแสดงออกสิ่งที่เราต้องการออกมาได้ ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับเราแล้วว่าจะสามารถเก็บช่วงจังหวะใดเพื่อใช้ในการถ่ายทอดต่อไป

6. แอปพลิเคชันแต่งภาพ
ปิดท้ายกันที่เครื่องมือปรับแต่งภาพคู่โทรศัพท์มือถือ ที่ช่วยเสริมเติมแต่งสิ่งที่ภาพถ่ายของเราขาดหายไปให้สมบูรณ์มากขึ้น ไม่ว่าจะปรับแสง สี เพิ่มความคมชัด ลด-เพิ่มคอนทราสต์ หรือใส่ฟีลเตอร์ เรียกว่าเป็นตัวช่วยที่นอกจากจะทำให้ภาพสวยงามขึ้นแล้ว ยังช่วยในการสื่ออารมณ์ของภาพและเจ้าของภาพ โดยปัจจุบันมีแอปพลิเคชันตกแต่งภาพที่นิยมอยู่มากมาย เช่น PicsArt, VSCO, Snapseed, Snapseed, Polarr, RNI Films, Leak.ly, Darkroom ฯลฯ ซึ่งมีความโดดเด่นแตกต่างกันไป ส่วนแอปฯ ไหนเรียกว่าดีที่สุดนั้น คงต้องแล้วแต่สไตล์ความชอบและความถนัดของแต่ละคน

ทั้งนี้ อีกสิ่งที่ช่างภาพที่ดีไม่ควรมองข้ามก็คือ มารยาทในการถ่ายภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเคารพต่อสถานที่หรือบุคคล เช่น การงดใช้แฟลช การงดถ่ายเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดเสียงชัตเตอร์ในบางสถานที่ หรือการขออนุญาตบุคคล เจ้าของ หรือเจ้าของสถานที่ก่อนถ่ายภาพ ทั้งหมดถือเป็นมารยาทเบื้องต้นที่ช่างภาพไม่ว่าจะมีกล้องใหญ่หรือกล้องมือถือควรมี ซึ่งจะช่วยทำให้ทุกคนดูเป็นมืออาชีพมากขึ้นด้วย
ภาพปก : บิ๊ง – ภาพฟ้า พุทธรักษา (@bbinko) | Wisit Poonkerd (@tonbangtoey)
เรื่อง : เกรสา ลี้เจริญ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ OK! Magazine Thailand ได้ที่…
Website : www.okmagazine-thai.com
Instagram : @okmagazinethailand
Facebook : @okmagthailand
Twitter : @okthailand
Comments
comments