
นี่คือเรื่องราวความรักของผู้หญิงในตำบลเล็กๆ ที่เกือบถูกลืมในเมืองไทย ที่นี่คือ ตำบลปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เล่าอย่างย่นย่อที่สุด เธอคนนี้ชื่อ เกล็นนิส เจอร์เมน เสตะพันธุ มาจากเมืองคาลกูรลี (Kalgoorlie) ประเทศออสเตรเลีย
หลายคนคงนึกแปลกใจว่าเหตุไฉนหญิงสาวต่างชาติวัย 78 ปีคนนี้จึงมาใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในเหมืองดีบุกเก่าที่ตำบลสุดท้ายชายแดนไทยเมียนมาร์ห่างไกลจากความสะดวกสบายเช่นนี้ คำตอบคือที่นี่มีความทรงจำหล่อเลี้ยงหัวใจจากความรักระหว่างเธอกับสามีผู้จากไป คุณสมศักดิ์ เสตะพันธุ
ชาวบ้านที่นี่รู้จักเธอเป็นอย่างดีด้วยชื่อที่ติดปากว่าป้าเกล็น ในอดีตสามีของเธอเป็นเจ้าของเหมืองแร่ในปิล๊อก มีคนงานร่วม 600 คน จนกระทั่งราคาแร่ทั่วโลกตกต่ำผลจากการตัดราคาของแร่จากจีน ปิล๊อกที่เคยรุ่งเรืองขนาดมีโรงภาพยนตร์ถึง 2 โรงก็เงียบเหงา เหมืองแร่ ต่างๆ ที่นี่ทยอยปิดตัวลงรวมถึงเหมืองสมศักดิ์ด้วย เคราะห์ร้ายซ้ำสองที่คุณสมศักดิ์เองก็ป่วยด้วยโรคมะเร็งทำให้ป้าเกล็นต้องดูแลคุณสมศักดิ์แบบเต็มตัว ก่อนสามีจะจากไปเธอให้คำมั่นสัญญากับสามีว่าจะอยู่ที่นี่เพื่อดูแลพื้นที่อันเป็นที่รักของเขาเอง ด้วยการเปลี่ยนให้เป็นโฮมเสตย์สไตล์บ้านเล็กในป่าใหญ่
นอกจากนี้เธอยังเลี้ยงดูคนงานเก่าของสามีกว่า 50 ชีวิตหลังจากที่เหมืองแร่ดีบุกปิดตัวลง รวมถึงป้าเกล็นยังรับสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นงานถนัดของเธอกับเด็กๆ ที่เหล่าคุณพ่อ คุณแม่ส่งมาเรียนรู้ภาษาที่สองท่ามกลางธรรมชาติแก้เหงาไปพลางๆ อีกด้วย ที่สำคัญป้าเกล็นไม่ได้รับสอนภาษาแต่เฉพาะเด็กๆ ที่เดินทางมาจากแดนไกลเท่านั้น หากแต่เธอยังสอนภาษาให้กับลูกหลานคนงานในเหมืองแห่งนี้อย่างไม่หวังอะไรตอบแทนอีกด้วย
แม้ว่าทุกวันนี้จะมีคนงานเก่าแก่เหลืออยู่เพียงแค่ 10 คนแต่ทีมของเราทราบมาว่าค่าใช้จ่ายในการทำกิจการตรงนี้ต้องใช้เงินเรือนแสนต่อเดือน ซึ่งเรียกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับผู้หญิงชราคนหนึ่ง แต่ตลอดการพูดคุยกันป้าเกล็นกลับไม่เคยเอ่ยถึงความยากลำบากที่ผ่านมา อีกทั้งเธอยังแนะนำว่าให้เราไปช่วยเหลือโรงเรียนที่ตั้งอยู่ที่ปิล๊อกจะดีกว่า
ตลอดระยะเวลาที่นั่งคุยกัน เราได้เห็น รอยยิ้มและได้ยินเสียงหัวเราะของเธอตลอดช่วงที่เธอพาเราย้อนอดีตไปครั้งเมื่อสามียังมีชีวิต มีอยู่บ้างที่ป้าเกล็นจะส่งแววตาที่หม่นเศร้าเมื่อพูดถึงช่วงเวลาที่ต้องลาจากจากผู้ชายที่เป็นที่รัก “ดิฉันคิดถึงเขาทุกวัน ไม่มีวันไหนไม่คิดถึง” ป้าเกล็นกล่าวกับเราซึ่งสั่นสะเทือนหัวใจคนฟังอย่างรุนแรง กระทั่งเมื่อการสนทนาจบลง ป้าเกล็นก็พาเราเดินชม โรงคลังอุปกรณ์เหมือง ป้าเกล็นบอกว่าเธอยังคงทุกอย่างให้อยู่ในสภาพเดิม รูปภาพบอกเล่าเรื่องราวของความรักระหว่างป้าเกล็นกับคุณสมศักดิ์ ถูกวางและแขวนอยู่โดยรอบ”เราบอกพี่ศักดิ์ก่อนที่เขาเสียว่าที่นี่จะเป็นเหมืองแร่สมศักดิ์จนวันสุดท้าย” ป้าเกล็นกล่าว
ครั้งหนึ่งป้าเกล็นเคยให้สัมภาษณ์ผ่านรายการคนค้นคนว่า “ทุกวันนี้ที่นี่เป็นบ้าน ชีวิตที่นี่มันอบอุ่นมาก ทุกคนรู้จักกัน ทุกคนนับถือพี่ศักดิ์ ทุกคนเรียกดิฉันว่าป้า ทหารก็เรียกป้า ตำรวจก็เรียกป้า…ป้าเกล็น…ป้าเกล็น เราก็คิดอยู่บ่อยๆ ว่าเราอยู่ในเกียรติของสามี…” และเพื่อให้เกียรติกับความรักที่ยิ่งใหญ่อันเป็นแรงบันดาลใจสำหรับ OK! Charity 2016 ที่เราตั้งชื่อไว้ว่า Love Will Keep Us Alive เงินรายได้จากกิจกรรมในครั้งนี้ เราจึงนำไปมอบให้กับ 3 โรงเรียนในเขตตำบลปิล๊อก เพื่อพัฒนาเด็กๆ ในชุมชนแห่งนี้ และเป็นการทำกุศลร่วมกันระหว่าง OK! และป้าเกล็นผู้หญิงหัวใจทองคำ คนเล็กๆ ที่สามารถแบ่งปัน ความรักที่ยิ่งใหญ่ของเธอได้อย่างไม่มีข้อแม้
ป้าเกล็นมาอยู่เมืองไทยกี่ปีแล้ว และเพราะอะไรถึงมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่
ดิฉันมาอยู่ที่เมืองไทย 52 ปีแล้วค่ะ แต่ก่อนนี้ใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯ มากกว่า กระทั่งต้องมาอยู่เป็นเพื่อนสามีช่วงที่เหมืองมีปัญหา และช่วงที่เขาล้มป่วย ก็เลยมาอยู่ที่นี่ พอเขาเสียเราก็เลือกมาอยู่ที่นี่ยาวเพราะเราสัญญากับเขาไว้ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตว่าจะดูแลที่นี่ให้เหมือนเดิม
ป้าเกล็นพบกับคุณสมศักดิ์ได้อย่างไร
ดิฉันเป็นคนออสเตรเลีย ได้พบกับสามีตอนที่เขาไปเรียนทางด้านวิศวกรรมเหมืองแร่ ที่มหาวิทยาลัยเหมืองแร่คาลกูรลี (Kalgoorlie) เขาเป็นแชมเปี้ยนแบดมินตัน ส่วนน้องชายดิฉันเป็นโค้ช ทำให้เรารู้จักกันที่สนามแบดฯ น้องชายของดิฉันเล่าให้ฟังว่า พี่ศักดิ์ถามเขาว่า ดิฉันเป็นใคร น้องชายก็เลยตอบกลับไปว่า That’s my sister เขาก็เลยถามน้องต่อว่า คิดว่าถ้าผมชวนเธอไปดูหนัง เธอจะไปกับผมไหม น้องชายก็เลยบอกว่าให้ไปชวนเอง ดิฉันไม่กัดหรอก (หัวเราะ) แล้วจากนั้นน้องชายก็พาเขาไปกินข้าวที่บ้าน ไปทำความรู้จักพ่อแม่ ท่านทั้งสองก็รักเขานะคะเพราะเขาเป็นสุภาพบุรุษ ส่วนตัวดิฉันกับเขาก็ทำความรู้จักและพัฒนาความสัมพันธ์กันมาเรื่อยๆ เขาเป็นสุภาพบุรุษมาก นั่นเป็นสิ่งที่ดิฉันประทับใจในตัวเขาถึงทุกวันนี้
ตอนที่เราเจอกัน เขาเหลือเวลาเรียนอีก 2 ปี ก็ตกลงกันว่าหลังเรียนจบ เขาจะกลับไปเมืองไทยก่อนเพื่อไปคุยกับครอบครัว แต่เราก็หมั้นกันที่ออสเตรเลียก่อน 3 ปี แล้วกลับมาแต่งงานที่โบสถ์วัฒนาในเมืองไทย
ตอนนั้นเรียกว่าเปลี่ยนชีวิตเลยนะครับ จากคนออสเตรเลียต้องเดินทางมาใช้ชีวิตที่เมืองไทย
ความรักทำให้เราทำได้ทุกอย่าง อีกอย่างดิฉันก็ชอบวัฒนธรรมของคนเอเชียอยู่แล้ว เลยไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไร ส่วนครอบครัวที่ออสเตรเลียก็เข้าใจดี คุณแม่ก็มีห่วงบ้าง แต่คุณพ่อจะคอยบอกให้คุณแม่ทำใจ แล้วก็บอกให้ดิฉันกลับไปหาพวกท่านบ้าง ช่วงที่มาอยู่ที่เมืองไทยดิฉันก็สอนพิเศษภาษาอังกฤษและเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
คุณสมศักดิ์เริ่มทำเหมืองที่จังหวัดกาญจนบุรี ในขณะที่ป้าเกล็นทำงานเป็นอาจารย์ที่กรุงเทพฯ ช่วงนั้นใช้ชีวิตครอบครัวอย่างไร
คุณสมศักดิ์เขาอยู่ที่เหมือง 3 สัปดาห์ และไปกรุงเทพฯ 1 สัปดาห์ค่ะ แต่ถ้าปิดเทอมดิฉันก็จะมาอยู่ที่นี่ ความจริงแล้วเขาอยากจะให้เราอยู่ที่นี่ด้วย ช่วงแรกๆ ดิฉันยอมรับว่ากลัว (หัวเราะ) แต่ใช้เวลาไม่นานก็ปรับตัวได้ (เคยทราบมาก่อนไหมว่าคุณสมศักดิ์ต้องกลับมาทำเหมืองแร่ที่นี่) รู้ค่ะ แต่นึกไม่ออกว่าทำเหมืองแร่ในป่าเป็นอย่างไร เพราะบ้านเกิดของดิฉันที่คาลกูรลี ผลิตทองคำเป็นอันดับหนึ่งของโลก อุปกรณ์ทุกอย่างก็เลยดูทันสมัยไปหมด พอตอนแรกที่มาแล้วเข้าป่าก็ตกใจ คิดถึง เสือ และสัตว์ใหญ่ในป่า เราใช้แสงตะเกียงแทนแสงไฟ เพราะไฟฟ้ายังมาไม่ถึง จากกรุงเทพกว่าจะมาถึงที่นี่เราต้องใช้เวลาเดินทาง 12 ชั่วโมง นั่งรถ ลงเรือ ขี่ช้าง นั่งเกวียน และเดินเท้าเข้ามา เรียกว่าลำบากมาก แต่เราก็แฮปปี้มากที่จะเดินทางมาด้วยกัน ได้หัวเราะ เฮฮา สนุกสนาน พอเดินทางถึงหมู่บ้านข้างบนก็นอนที่นั่น แล้วค่อยเดินลงมาตอนเช้า ตอนนั้นเขามีความสุขมาก แร่มันเยอะค่ะ เรามีคนงานกว่า 600 คน ตกกลางคืนพวกเขาจะมานั่งดูวีดีโอกันที่โรงคลังอุปกรณ์เหมือง มันอบอุ่นมาก ทุกวันนี้ดิฉันยังจำภาพที่คนงานนั่งกันยาวไปจนสุดโรงคลังฯ ตรงตลาดแร่ที่หมู่บ้านอีต่องเองก็เฟื่องฟู ตอนนั้นมีสนามบินเล็กๆ เป็นของตัวเองและยัง มีโรงหนังถึง 2 โรง
จนกระทั่งเราต้องประสบภาวะราคาแร่ทั่วโลกตกต่ำ เพราะจีนไม่ยอมเป็นสมาชิกสภาซึ่งควบคุมราคาดีบุกทั่วโลก และลดราคาให้ถูกลงมา สุดท้ายตลาดแร่ทั่วโลกก็ล้ม เราก็ต้องปิดเหมือง คนงานจาก 600 คนเหลือเพียง 50 คน ภายในเวลาไม่กี่วัน มันเศร้ามากนะคะ พี่ศักดิ์เองก็เครียด และต่อมาก็พบว่าเขาป่วยเป็นมะเร็งขั้นที่ 3 ทั้งๆ ที่เขาเป็นคนไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ดิฉันคิดว่าถ้าเหมืองไม่ล่ม คุณสมศักดิ์ก็คงไม่ป่วยเป็นมะเร็ง ช่วงเวลานั้นดิฉันอยู่กับเขาตลอดจนกระทั่งมะเร็งเริ่มลุกลามต้องเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ช่วงนั้นคุณสมศักดิ์ตื่นทุกชั่วโมง แล้วก็จะถามแต่ว่าเหมืองเป็นอย่างไรบ้าง เขารักของเขามาก ดิฉันก็ตอบไปว่า ฉันจะไปอยู่ที่นั่นเอง จนกระทั่งเขาหลับไป สักพักเขาก็ตื่นขึ้นมาอีกแล้วถามว่า แล้วจะอยู่ได้อย่างไร เราก็ตอบว่าไม่ต้องห่วงฉันอยู่ได้ พระเจ้าจะช่วยฉัน จนกระทั่งวันสุดท้ายของเขา ตอนนั้นดิฉันนั่งอ่านคัมภีร์ไบเบิ้ลอยู่ข้างๆ ได้ยินเขาบอกว่า พอแล้ว ไปแล้ว แล้วเขาก็จากไป
แล้วที่มาที่ไปของการปรับเหมืองให้มาเป็นโฮมสเตย์มาจากอะไร
ตอนนั้นเราไม่รู้จะทำอะไร เพราะว่าตลาดแร่มันล่มแล้ว ก็มีคนนู้นคนนี้แนะนำให้ทำโฮมสเตย์ คนงานที่นี่ก็ช่วยกันทำค่ะ กลุ่มคนที่มาแรกๆ ก็จะเป็นพวกชมรมรถออฟโรดจากนั้นแขกก็มาเรื่อย เราเน้นสำหรับกลุ่มคนที่ชอบป่า ชอบธรรมชาติ
เรียกว่าเงินกระแสหลักในการเลี้ยงดูคนที่นี่คือโฮมสเตย์
ใช่ค่ะ ตอนนั้นค่าใช้จ่ายเดือนละเป็นแสน เราเลี้ยงคนงาน คนเก่าคนแก่ประมาณ 50 คนในช่วงแรก บางเดือนถ้าหาเงินไม่พอใช้ก็จะบอกเขาไปตรงๆ ว่า เดือนนี้ไม่มีเงินให้เต็มที่นะ (ทราบว่าป้าเกล็นส่งลูกๆ ของคนงานเรียนหนังสือด้วย) ใช่ค่ะ มีลูกหลานคนงานที่นี่หลายคนที่พ่อแม่ไม่ยอมให้เรียน แต่ดิฉันเห็นความสำคัญของการศึกษา ก็ส่งเด็กๆ เรียนจบจากโรงเรียนต.ช.ด.วิทยาคาร มาแล้วประมาณ 20 คน ตอนนั้นจะมีรถรับส่งพวกเขาด้วย พอเด็กๆ เรียนจบเขาก็ไปอยู่ข้างบนกัน มีแวะกลับมาหาพ่อแม่เขาบ้างในช่วงเวลาที่หยุด แต่ตอนนี้คนงานน้อยลงแล้ว อยู่กันประมาณ 10 คน ลูกหลานคนงานตอนนี้ก็ยังเล็กมาก ยังไม่ได้อยู่ในวัยที่ต้องไปเข้าเรียน
เท่าที่ทราบมาเด็กที่อยู่ที่ปิล็อก จะมีบางคนเคยมาเรียนภาษาอังกฤษกับป้าเกล็น จริงๆ แล้วเปิดสอนให้เด็กๆ แถวนี้ด้วยหรือเปล่า
ใช่ค่ะ แล้วเวลาปิดเทอม จะมีนักเรียนมาจากรุงเทพฯ ด้วย พ่อแม่เขารู้ว่าเราเป็นอาจารย์เก่าแก่ เขาก็พาลูกมาอยู่ที่นี่กับดิฉัน เรารับเด็กไม่เยอะ ส่วนใหญ่เขาก็เป็นพี่น้องกัน หรือเป็นเพื่อนกัน เขาก็มีความสุขดี ส่วนใหญ่อยู่ที่นี่ประมาณ 2 เดือน เหมือนซัมเมอร์แคมป์ แต่ตอนนี้ก็เลิกสอนไป เพราะเราอายุมากแล้ว
ทุกวันนี้กลับกรุงเทพฯ บ่อยไหม
ดิฉันพยายามกลับเดือนละครั้งไปเยี่ยมลูก หลาน แต่บางทีก็ไม่สำเร็จ (หัวเราะ) เวลากลับไป เราอยากเจอพวกเขาทั้งครอบครัว แต่ลูกชายก็ต้องบินไปต่างประเทศปีละหลายๆ ครั้ง แต่ถ้าเขาได้พักร้อนยาว พวกเขาก็จะมาอยู่นี่ทั้งครอบครัว
ทั้งๆ ที่อยู่ที่กรุงเทพฯ น่าจะสบายกว่าแต่ทำไมป้าเกล็นถึงอยากอยู่ที่นี่ครับ
อยู่ที่นี่มีความสุขดี สนุกกับการต้อนรับแขกที่มาพัก อากาศดีไม่มีมลพิษ ไม่มีเหตุร้าย ที่สำคัญมีความทรงจำที่ดี
เหมืองสมศักดิ์ บ้านเล็กในป่าใหญ่ ตำบลปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ โทร.081-325-9471
ขอเชิญร่วมกิจกรรม OK! Charity 2016 ได้ในวันที่ 2 กรกฎาคม ณ ลานเอเทรี่ยม 2 เซ็นทรัลเวิลด์ ในงานมีขายเสื้อยืดการกุศล ออกแบบโดย แสตมป์ อภิวัชร์ ประมูลของรักดารา และขายกอดโดยนักแสดงหนุ่มสุดฮอต รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย มอบให้ 3 โรงเรียนในตำบลปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดาญจนบุรี แล้วพบกันนะคะ
✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦
ติดตาม OK! Magazine Thailand ได้ที่นี่
♥ Website : http://www.okmagazine-thai.com/
♥ Instagram : https://www.instagram.com/okmagazinethailand/
♥ Facebook : https://www.facebook.com/okmagthailand
♥ Twitter : https://twitter.com/okthailand
Comments
comments