เล่าเรื่องตึกนวมินทรบพิตร 84 พรรษา – โครงการสุดท้ายที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ให้คนไทยโดยศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

เล่าเรื่องตึกนวมินทรบพิตร 84 พรรษา – โครงการสุดท้ายที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ให้คนไทยโดยศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ 70 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรของพระองค์มาโดยตลอด ไม่ว่าประชาชนจะทุกข์ร้อนเรื่องใด เฉกเช่นเดียวกับเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยของคนไทย โดยเฉพาะคนไข้ที่ด้อยโอกาสซึ่งพระองค์ให้ความใส่พระทัยเป็นพิเศษ
ตึกนวมินทรบพิตร 84 พรรษาคือโครงการสุดท้ายที่พระองค์ทรงมอบไว้สำหรับผู้ป่วยด้อยโอกาสและยังเป็นอีกหนึ่งอาคารที่ลดปัญหาในเรื่องการบริการและการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชเผชิญปัญหานี้มาได้ตลอดอีกด้วย OK! มีโอกาสสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ดูแลโครงการสำคัญเกี่ยวกับความเป็นมาของอาคาร พระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีต่อคนไข้ที่มาใช้บริการโรงพยาบาล ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างศิริราชและประชาชนทุกสาขาอาชีพที่ร่วมกันสร้างอาคารหลังนี้ให้เป็นจริง อีกทั้งการตั้งปณิธานของชาวศิริราชที่สานต่อพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน

ได้เห็นหลายๆ ฝ่ายกำลังระดมทุนสร้างตึกนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ตอนนี้ดำเนินการถึงขั้นไหนแล้วคะ
อาคารนี้เป็นอาคาร 25 ชั้น ชั้นที่ยากที่สุดคือ 2 ชั้นที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งตอนนี้ 2 ชั้นนั้นเสร็จแล้ว ขณะนี้เป็นการก่อสร้างที่พ้นดินขึ้นมาถึงชั้นที่ 2 และเริ่มทำพื้นของชั้นที่ 3-4 จากนี้ไปเฉลี่ยเดือนละ 1 ชั้น โดยเทคนิคของการก่อสร้าง คาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2562 ตัวกรอบของทั้ง 25 ชั้นจะเสร็จหมด ถ้ากำหนดการไม่คาดเคลื่อนจะเราเปิดให้บริการ 4 ชั้นล่าง ซึ่งมีห้องตรวจผู้ป่วยนอก, คลินิกเฉพาะโรค, ศูนย์บริการความเป็นเลิศบางศูนย์ ภายในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 ต่างๆ ส่วนชั้น 5 ไปจนถึงชั้น 25 ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นหอผู้ป่วยต้องจะใช้เวลาในการตกแต่งภายใน เพราะต้องเกี่ยวข้องกับท่ออ๊อกซิเจน และระบบท่ออื่นๆ รวมทั้งการติดตั้งครุภัณฑ์ทางการแพทย์ คาดว่าจะเสร็จสิ้นประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 ถึงตอนนั้นน่าจะให้บริการเต็มรูปแบบ

ช่วงนี้ยังต้องการระดมทุนในด้านไหนเพิ่มเติมบ้างคะ
อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา จะดูแลคนไข้ได้ หนึ่งต้องมีตัวอาคาร สองต้องมีอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่งงบประมาณในการสร้างอาคารที่มีตัวเลขกลมๆ ที่ 5,000 ล้านบาท เราได้ยอดนี้แล้วครับ ซึ่งมาจากงบประมาณแผ่นดิน2,000 ล้านบาทและหาเองอีก 3,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามงบประมาณส่วนนี้ตั้งเผื่อสำหรับดูแลรักษาอาคารระยะยาวด้วย ตอนนี้เริ่มเข้าสู่กระบวนการที่จะจัดหาตัวครุภัณฑ์ทางการแพทย์ใช้งบประมาณอีกประมาณ 1,800 ล้านบาท หรือถ้ามีบางท่านที่สนใจอยากจะบริจาคเป็นเครื่องมือทางการแพทย์เลย เช่น บางคนเป็นโรคไตก็อยากจะบริจาคเครื่องฟอกไต ก็ขอให้ประสานเข้ามาได้ เพื่อที่เราจะบอกสเปคของอุปกรณ์ที่ต้องการและแน่ใจได้ว่าจะมีความสามารถในการให้บริการผู้ป่วยได้ดี สามารถแจ้งความประสงค์เข้ามาได้ที่ ศิริราชมูลนิธิ หรือทางฝ่ายประชาสัมพันธ์ได้ครับ

นอกจากตึกนวมินทรบพิตร 84 พรรษาจะเป็นโครงการสุดท้ายของในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้ว อยากให้อาจารย์เล่าถึงคุณประโยชน์ของตึกนี้อีกนิดหนึ่งค่ะ
นับแต่โรงพยาบาลศิริราชเกิดขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2431 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)พระราชทานให้ ในช่วงเกือบ 130 ปีที่ผ่านมา มียอดผู้ป่วยที่มารับบริการที่โรงพยาบาลศิริราช เพิ่มขึ้นตลอด สมัยผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช พ.ศ. 2547 ปีแรกมีผู้ป่วยนอกที่เข้ามารับการรักษาจากเรา 1,700,000 ครั้งต่อปี 3 ปีก่อนที่ผมจะออกจากตำแหน่งโรงพยาบาลศิริราช ไปมหาวิทยาลัยมหิดล ยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาเป็น 2,200,000 ครั้ง ปีที่แล้วยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 3,400,000 ครั้ง เกือบ 1 เท่าตัวในช่วงประมาณ 10 ปี ณ วันนี้ ศิริราชมีผู้ป่วยนอกมาให้เราดูแล ต่อหนึ่งวัน คือระหว่าง 8,000-10,000 ครั้ง เมื่อผู้ป่วยนอกมากรักษามากขึ้น จำนวนหนึ่งที่ต้องอยู่โรงพยาบาลก็จะเพิ่มขึ้นไปตามสัดส่วนผู้ป่วยที่มาตรวจเช่นเดียวกัน ศิริราชมีปัญหามาตลอด ถึงได้มีการสร้างตึกใหม่ๆ มาตลอด 120 กว่าปีที่ผ่านมาเพื่อรองรับความต้องการ ทีนี้หลังๆ ความต้องการเยอะขึ้น โรคภัยไข้เจ็บก็ซับซ้อนมากขึ้น แม้กระทั่งโรคเบาหวานยังซับซ้อนเลย เมื่อเข้ามา เราก็ต้องการเตียงมากขึ้น
ปัญหาใหญ่ของศิริราชเลยคือ เราขยายในแนวกว้างไม่ได้แล้ว ก็ต้องกลับมามองการขยายในแนวสูง โครงการนี้จึงเกิดแนวคิดขึ้นมาว่า เราอาจจะต้องทุบอาคาร 3 อาคารเดิม ที่มีอายุกว่า 50 ปีแล้วก่อสร้างอาคารใหม่ 1 อาคาร สูง 25 ชั้น แต่เป็นอาคารสำหรับผู้ป่วยด้อยโอกาสทั้งสิ้นมี 376 เตียง สำหรับผู้ป่วยด้อยโอกาส และอีก 62 เตียงในหอผู้ป่วยหนักคือไอซียู ผู้ป่วยที่แอดมิดอยู่ ถ้าเกิดอาการหนักขึ้นมาก็สามารถพาผู้ป่วยขึ้น ลง แนวดิ่ง ไม่ต้องย้ายตึก แล้วยังมี 14 ศูนย์ความเป็นเลิศอยู่ในนี้ ธนาคารเลือดอยู่ในนี้ ห้องตรวจผู้ป่วยนอกซึ่งสามารถรับบริการได้ถึง 300,000 รายต่อปีก็จะอยู่ในตึกนี้ อีกทั้งสามารถรับผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นได้อีกประมาณ 20,000 รายต่อปี มีแนวโน้มที่จะปิดช่องว่างที่เราอึดอัดอยู่ที่เราไม่สามารถให้บริการได้เต็มที่ การมีอาคารนี้เกิดขึ้น เราก็เลยทำโครงการกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อขอพระราชทานนามจากพระองค์ หลังจากที่อธิบายว่าโครงการนี้จะเป็นอย่างไร ผู้รับบริการที่อาคารหลังนี้เป็นอย่างไร พระองค์ได้พระราชทานนามนวมินทรบพิตร 84 พรรษา นว (นะวะ) นพ (นพ พะ ) แปลว่าใหม่ หรือ เก้า , อินทรบพิตร คือ กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่เหมือนพระอินทร์ , 84 พรรษา คือพระชนมายุของพระองค์ในเวลานั้น เป็นการสื่อเลยว่าอาคารหลังนี้เป็นสัญลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานพระนามอาคารหลังนี้เพื่อให้อาคารหลังนี้ดูแลผู้ป่วยด้อยโอกาสของโรงพยาบาล และในวโรกาสที่พระองค์ท่านเจริญพระชนม์พรรษา 84 พรรษา
เมื่อพระราชทานนามลงมา ทางศิริราชก็มีความรู้สึกว่า เราอยากจะชวนคนไทยทั้งประเทศมาร่วมกับพระองค์ทำให้อาคารหลังนี้เกิดขึ้นได้จริง จะเห็นว่าโครงการรณรงค์เพื่อเชิญชวนคนไทยบริจาคอาคารหลังนี้จะเข้าไปในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะไหน ไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพใด ก็สามารถร่วมกับพระองค์ท่านได้ทั้งนั้น ซึ่งจนถึง ณ วันนี้ก็เข้าใกล้ความเป็นจริงแล้ว แต่ระหว่างที่ดำเนินการรับบริจาคพระองค์ท่านก็เสด็จสวรรคต เรื่องนี้ก็กลับมากระทบใจพวกเรามากขึ้นไปอีกว่าเราไม่ได้ต้องการเพียงแค่คนไทยร่วมกับพระองค์ท่านทำให้อาคารหลังนี้เกิดขึ้น แต่เราอยากให้อาคารหลังนี้ทำให้คนไทยไม่ลืมในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะฉะนั้น ตอนนี้เราก็ได้เชิญชวนศิลปินแห่งชาติมาสร้างงานศิลปะ อาจจะเป็นประติมากรรมก็ดี จิตรกรรมก็ดี หรืออื่นๆ ก็ดีที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ท่าน แล้วตั้งไว้ที่นี่ พร้อมกับขอให้ศิลปินแห่งชาติทุกคนที่จะทำผลงานใดๆ ก็แล้วแต่ เขียนว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจที่ผลิตผลงานเหล่านั้นขึ้น เพราะฉะนั้นอีก 10 ปี 20 ปี 30 ปี เวลามีคนมาเยี่ยมคนไข้ในตึกนี้ก็เห็นผลงานของศิลปินแห่งชาติ และได้เห็นแรงบันดาลใจที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ท่าน ทุกคนที่เข้ามาถึงที่นี่ก็จะนึกถึงพระองค์ท่าน
ผมคิดว่าตึกนวมินทรบพิตร84 พรรษาเป็นอาคารที่เราทุ่มเทเต็มที่ ต้องการให้บริการผู้ป่วยด้อยโอกาสเต็มที่ เพราะพระองค์ท่านอยากให้ศิริราชดูแลผู้ป่วยด้อยโอกาสได้เต็มที่ ให้พสกนิกรของพระองค์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เราก็ตั้งใจทำสิ่งเหล่านี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา จะเห็นว่าเราเผยแผ่คลิปใหม่ออกไปอีก 1 คลิป คลิปที่เรียกว่าความฝันอันสูงสุด อยากเชิญชวนคนไทยให้ลองดู เพราะว่าเป็นคำสัญญาของพวกเราชาวศิริราช ที่จะสัญญากับตัวเราทำเรื่อง 8 เรื่อง สืบสานพระราชปณิธาน และทำงานเพื่อแผ่นดิน

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

การที่อาจารย์ได้ดูแลโครงการนี้ ได้เห็นความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของคนไทยอย่างไรบ้างคะ
เนื่องจากคนไทยจงรักภักดีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 มาก ทำให้คนไทยเราอยากทำร่วมกับพระองค์ และด้วยความที่คนไทยเป็นคนใจดีอยู่แล้ว ชอบช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนอยู่แล้ว ทำให้โครงการสามารถรับบริจาคเข้ามาได้ไม่ลำบากจนเกินไปนัก นอกจากจะมาบริจาคที่ศิริราชแล้ว เรายังมีกลไกที่ทุกคนสามารถบริจาคได้ในทุกพื้นที่ โดยการกด *984*100# แล้วโทรออก คือถ้ามีโทรศัพท์มือถืออยู่ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ท่านก็สามารถโทรเข้ามาบริจาคได้เลย ซึ่งทุกๆ ตัวเลขมีความหมาย *984 *100 หมายถึงรัชกาลที่ 9 พระชนม์มายุ 84 พรรษา เงิน 100 บาท คือทุกคนที่รู้จักความหมายก็จะเข้าใจกับการบริจาคในครั้งนี้ ขณะเดียวกันอาคารหลังนี้หากศิลปินแห่งชาติมาทำงานร่วมกันก็จะทำให้เห็นภาพอีกภาพหนึ่งเหมือนกันคือ ทุกคน ทุกอาชีพสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับประเทศ และผมคิดว่าโครงการนี้กำลังจะกลายเป็นจุดศูนย์รวมที่ดึงคนไทยเข้ามาร่วมกัน ช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน เป็นโครงการที่ผมคิดว่าดีมากๆ เราได้รับการตอบสนองอย่างดีจากคนไทยจำนวนมากมาย

ศิลปินแห่งชาติที่ตอบรับแล้วมีใครบ้างคะ
ท่านแรกที่แสดงความจำนงเลยคืออาจารย์ช่วง มูลพินิจ ซึ่งท่านได้บอกผมว่าท่านจะสร้างประติมากรรม คงต้องรอดูกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร แต่ผมเชื่อว่าจะมีอีกหลายๆ คน ขออนุญาตยังไม่เอ่ยนาม ตอนนี้เราใช้คอมพิวเตอร์ประมวลอยู่ว่าจะมีพื้นที่ไหนที่จะจัดวางผลงานเหล่านั้นได้บ้าง หลังจากนั้นเราก็จะเชิญศิลปินมาพร้อมๆ กัน แล้วก็ดูว่าท่านไหนจะอย่างไร แล้วก็จัดกลุ่มให้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม

โครงการนี้มีศิลปินเข้ามาช่วยเยอะมาก อยากทราบว่าเป็นการแสดงความจำนงเข้ามาเองหรือเปล่าคะ
ส่วนใหญ่เป็นแบบนั้นครับ แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่เราเชิญมา ซึ่งพอออกปากเชิญ เขาก็ตกลงมาเลยและเรียกว่าไม่มีการคิดค่าตัว ทุกคนยินดีที่จะมา และตอนนี้หลายๆ คนก็ไปคิดโครงการเองแล้วด้วยซ้ำ อย่างกลุ่มศิลปินเราก็เห็นกันมาเมื่อไม่กี่วันนี้ก็คือโครงการก้าวเพื่อชีวิต เพื่อรวบรวมเงินมาบริจาคสมทบทุนสร้างอาคารหลังนี้ ผมได้ไปร่วมกิจกรรมมาเหมือนกัน และที่เรากำลังติดต่อเข้ามาคือนักกีฬาทั้งหลายของประเทศไทย ก็จะร่วมกันดำเนินการเช่นนี้เช่นกัน แล้วก็ยังมีกลุ่มศิลปินแห่งชาติซึ่งก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง อีกไม่นานก็จะมีประชาชนทั่วไปมาร่วมกันเดิน ตอนที่นักศึกษาเราวิ่งจากเชียงใหม่มากรุงเทพฯ เราก็ได้คนไทยที่หลากหลายวิชาชีพที่อยู่ตามจังหวัดต่างๆ ที่เดินลงมาร่วมกันบริจาค เป็นภาพที่เห็นที่งดงามมาก ที่เห็นคนไทยร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นใคร ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน คือเรามีเป้าหมายเดียวกันคือทำให้อาคารหลังนี้เกิดขึ้นได้จริง ทำให้อาคารหลังนี้ช่วยชีวิต คืนชีวิตให้กับคนด้อยโอกาส คืนความสุขให้กับครอบครัวของคนด้อยโอกาสเหล่านั้น

Day 7 completed An amazing 7 days with amazing people Thank you once again everyone. @walkforlifeth #WalkForLifeTH

A post shared by Metinee Kingpayome (@metinee) on

คุณหมอเองเคยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างไรบ้างคะ
ผมถวายงานท่านตั้งแต่ พ.ศ.2543 ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ผมภูมิใจ แต่โดยทั่วไปไม่ชอบไม่อยากเล่าเรื่องแบบนี้ออกมาเพราะถือว่าถวายงานให้ท่านไปแล้ว แต่ว่าระหว่างถวายงานมีสิ่งหนึ่งที่จนถึงวันนี้ก็ยังยึดไว้เป็นแนวทางที่พระองค์ท่านเคยพระราชทานไว้ คือครั้งหนึ่ง ผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ตอนปี พ.ศ.2547 -2550 ช่วงที่เข้ามาทำงานในตำแหน่งนี้ใหม่ๆ งานหนักจริงๆ ผมน้ำหนักหายไป 8 กิโลกรัม เพราะช่วงนั้นงานในโรงพยาบาลศิริราชเยอะมาก คนไข้ก็เยอะ เรื่องราวจิปาถะก็เยอะ หลังจากที่มาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราชประมาณ 6 เดือน ตอนนั้นผมถวายงานพระองค์ท่านที่พระราชวังไกลกังวล ได้เข้าเฝ้าฯ และกราบบังคมทูลเล่าเรื่องปัญหาโรงพยาบาลศิริราช เผื่อจะทรงพระราชทานคำแนะนำ ระหว่างที่กำลังเล่าไปเหมือนกับระบาย ท่านก็ทรงฟังสักระยะหนึ่งและหันกลับมาแย้มพระสรวลเล็กน้อย แววพระเนตรมีพระเมตตามาก แล้วรับสั่งสามคำสั้นๆ ‘ทำต่อไป’ ผมเลิกบ่นเลย และหลังจากนั้นจนถึงทุกวันนี้ ผมไม่บ่นอีกเลยนะครับเรื่องทำงานหนัก ถ้าตราบใด อยากจะทำงาน ตั้งใจทำงาน อยากจะทำเรื่องดีๆ ให้กับคนส่วนรวม แทนที่จะบ่น เอาเวลาบ่นนี่มาคิดและมาทำงานดีกว่า บ่นไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย
‘ทำต่อไป’ ยังสื่อความหมายอีกในเรื่องความเพียร ความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะทำ หลังจากนั้นจนถึงวันนี้ สามคำนั้นก็ยังอยู่ในใจอยู่ตลอดเวลา เวลามีเรื่องหนักๆ คำว่าท้อก็ไม่เกิดแล้ว ผมรู้จักกับพยาบาลที่ดูแลท่าน ท่านเคยรับสั่งกับพยาบาลว่า หมอประสิทธิ์ เขาทำงานหนัก แสดงว่าจริงๆ ท่านทรงฟังตอนที่เราเล่า แต่ด้วยคำแค่สามคำ ผมก็ไม่เคยบ่นและเล่าเรื่องพวกนี้อีกเลย
คำสามคำนี้เป็นการพระราชทานกำลังใจที่ดีมากนะครับ แต่เป็นดีมากในสไตล์ของพระองค์ ผมคิดว่าถ้าเรานึกย้อนหลัง เวลาที่ท่านเสด็จไปตามที่ต่างๆ เห็นปัญหาต่างๆ ไปอ่านย้อนหลังจะรู้เลยว่าเรื่องหลายเรื่องท่านส่งต่อให้กับผู้รับผิดชอบดูแลในหน่วยงานราชการต่างๆ แต่บางทีไม่เกิดอะไรขึ้น พอไม่เกิดขึ้นท่านก็ทรงดำเนินการเอง กลายเป็นโครงการพระราชดำริ พอดำเนินโครงการเอง บางโครงการไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ บางโครงการกว่าจะพิสูจน์ว่าดีจริงแล้วคนยอมรับ ใช้เวลาเป็นปีๆ การพลิกพื้นที่ที่ปลูกต้นไม้ไม่ได้เลยจนกลายเป็นป่าเขียวขจี ถ้าไม่มีคำว่า ทำต่อไป ก็ยากที่จะเกิด ตรงนี้ผมก็อยากฝากคนไทยด้วยนะครับ

ระหว่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ประทับรักษาพระวรกายที่นี่ ทราบว่ายังทรงงานเพื่อประชาชนอยู่ตลอด คุณหมอพอจะเล่าให้ฟังได้ไหมคะ
ขณะที่ท่านประทับอยู่ ท่านยังทรงงาน ขณะที่ท่านประทับอยู่ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 16 ท่านก็ทอดพระเนตรแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่เป็นระยะอยู่แล้ว เวลาที่ท่านเสด็จฯ ไปที่ชั้น 7 ของ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ก็ไปทอดพระเนตรแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่เป็นครั้งคราว ผมเชื่อว่าท่านไม่ได้ไปทอดพระเนตรเพื่อพักผ่อนเพียงอย่างเดียว ผมเชื่อว่าท่านทอดพระเนตรดูความเร็วของน้ำไหล ปริมาณน้ำว่าจะกำลังจะถึงขอบตลิ่งหรือไม่ ท่านทรงใส่พระทัยในเรื่องนี้ตลอดเวลา ปี พ.ศ. 2554 ท่านทรงรับสั่งตั้งแต่ต้นปีว่าปีนี้น้ำมาก แล้วก็เกิดเรื่องจริงๆ ท่านทรงงานทั้งที่เป็นทางการ กับส่วนที่ไม่ได้เป็นทางการ คือสังเกตเรื่องราวต่างๆ เรื่องบางเรื่องถึงจุดๆ หนึ่ง ท่านก็จะทรงรับสั่งถึงผู้เกี่ยวข้องให้มาเข้าเฝ้าฯ เหมือนเมื่อครั้ง ปี พ.ศ. 2554 ก่อนที่จะน้ำท่วม ท่านเห็นการจราจรรอบศิริราชว่าหนาแน่น ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเกิดคู่ขนานลอยฟ้า บรมราชชนนี ที่ท่านพระราชทานเป็นโครงการเอาไว้ แล้วท่านเสด็จฯ มาเปิดเมื่อปี พ.ศ. 2541 แต่ปรากฏว่าก็ยังแก้ปัญหาได้ไม่เต็มที่ ท่านจึงได้รับสั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาที่นี่เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้โครงการรถไฟบนดินสายสีแดง ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยจะนำคนที่ศาลายาเข้ามากรุงเทพฯ และให้คนต่างจังหวัดเข้ามาถึงโรงพยาบาลศิริราชได้สะดวกขึ้น, โครงการรถสีส้มที่ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้คนกรุงเทพฯเข้ามาถึงศิริราชได้สะดวกขึ้น โครงการอำนวยความสะดวกสำหรับคนที่จะมาทางรถยนต์โดยการขยายพื้นที่ของสะพานอรุณอัมรินทร์ และผู้ที่ไม่ได้มาศิริราชก็ให้ลอยฟ้าข้ามสี่แยกไปทางหอประชุมทหารเรือเพื่อลดการแออัดของสี่แยกศิริราช เกิดขึ้นและนี่เป็นโครงการในพระราชดำของพระองค์ท่านทั้งสิ้น
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ท่านเสด็จฯ มาศิริราชใหม่ๆ ช่วงปีพ.ศ. 2518, พ.ศ. 2521,พ.ศ. 2526 และ พ.ศ.2531 ก็ทรงเห็นว่าศิริราชมีน้ำขังเป็นหย่อมๆ มีน้ำท่วมเป็นครั้งคราว ท่านทรงรับสั่งเองว่าน้ำที่ขังในศิริราชอาจจะเป็นแหล่งกระจายเชื้อ เพราะในโรงพยาบาลมีเชื้อโรค การที่โรงพยาบาลมีน้ำท่วม น้ำขัง ทำให้ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลก็ยาก ญาติจะมาเยี่ยมก็ยาก แล้วท่านก็ขอดูแผนผังพื้นที่ในศิริราช ท่านทรงเห็นเองว่าพื้นที่ในศิริราช บางพื้นที่สูง บางพื้นที่ต่ำ ไม่ได้เป็นทางราบลงไป เพราะฉะนั้นพื้นที่ไหนต่ำก็จะกลายเป็นน้ำขัง ขณะเดียวกัน พื้นที่ไม่ได้สโลปเข้าหาแม่น้ำเจ้าพระยา วันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2532 ท่านกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาที่ศิริราช และท่านทรงศึกษาระบบท่อน้ำทิ้งของศิริราช คือน้ำทั้งหมดของที่นี่จะผ่านโรงบำบัดน้ำเสียก่อนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อให้แน่ใจว่าน้ำที่ลงน้ำไม่ปนเปื้อนด้วยสารเคมีหรือเชื้อโรค แต่ท่านทรงรับสั่งว่าปริมาณน้ำที่เข้าโรงบำบัดเยอะเกินเหตุ เพราะสมัยนั้นท่อน้ำฝนกับท่อน้ำทิ้งนี่รวมกัน สมมติมีน้ำฝน 5 ลิตร น้ำเสีย 5 ลิตร กลายเป็น 10 ลิตร ซึ่ง 10 ลิตรก็ลงไปที่โรงบำบัดน้ำเสีย ท่านก็ทรงให้แยกท่อน้ำฝนออกจากท่อน้ำทิ้ง โดยวิธีนี้ น้ำ 10 ลิตร เข้าโรงบำบัดจริงๆ แค่ 5 ลิตร โรงบำบัดจึงสามารถบำบัดได้อย่างเต็มที่เลย ส่วนน้ำฝนที่ไม่ใช่น้ำสกปรกไม่จำเป็นต้องเข้าโรงบำบัด นอกจากนั้นก็ทรงให้ปรับพื้นที่ในศิริราช พื้นที่ที่ต่ำก็ทำให้สูง แล้วก็ทำให้เป็นทางสโลปลงไปที่บ่อพักน้ำ 2 แห่ง น้ำต่างๆ ก็จะไหลลงมาเก็บในบ่อพักนี้ ในบ่อพักนี้มีประตูน้ำ ในช่วงน้ำลง เราก็เปิดประตูน้ำจากนี้ให้น้ำก็ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาโดยที่ไม่ต้องใช้พลังงานเพิ่มเติม ไม่ต้องเปลืองไฟ แต่ช่วงที่น้ำขึ้น ท่านบอกให้ปิดประตูน้ำ น้ำเก็บอยู่ในบ่อ แต่ถ้ามันเริ่มมากเกินไปก็ปั้มน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา หลังจากที่ทำสิ่งเหล่านี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่เคยมีน้ำท่วมโรงพยาบาลศิริราชอีกเลย เป็นพระอัจฉริยะภาพจริงๆ ทำให้ศิริราชอยู่กับน้ำอย่างสันติสุข และที่สำคัญคือ ทำให้ประชาชนที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาลศิริราชไม่ต้องเจอน้ำขัง น้ำท่วม ซึ่งก็ทำให้การบริการของเราก็ดีขึ้น จริงๆ โครงการที่พระองค์ท่านพระราชทานให้กับโรงพยาบาลศิริราช ส่วนใหญ่เกือบทั้งสิ้นกลับไปลงไปที่ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยที่มารับบริการที่ศิริราช รวมทั้งท่านยังพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สร้างอาคารเกี่ยวกับผู้ป่วยด้อยโอกาสของโรงพยาบาลศิริราชอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่พระองค์ท่านประทับอยู่ในนี้

อาจารย์มองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำอยู่อย่างไรบ้างคะ
ผมคิดว่าพระองค์เป็นทุกอย่างของพสกนิกรชาวไทย แล้วพสกนิกรชาวไทยก็เป็นทุกอย่างของพระองค์ การที่ได้มีโอกาสถวายการดูแลพระองค์ท่านจึงเป็นส่วนที่ทำให้ประเทศไทยได้พัฒนา เพราะการที่มีพระองค์ทำให้ประเทศไทยพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้พสกนิกรของพระองค์ท่านสามารถทำงาน มีคุณภาพชีวิต มีสุขภาพที่ดีขึ้น สามารถทำงานเพื่อประเทศได้ดีขึ้น ผมว่านี่เป็นคุณค่ามหาศาล คุณค่าทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวเองและไม่มีความจำเป็นที่ต้องกลับมาที่ตัวเอง แต่เป็นคุณค่าที่ทำให้ประเทศที่เราอยู่ พสกนิกรที่เราอยู่ด้วยมีคุณภาพที่ชีวิตทีดีขึ้น ผมคิดว่านี่เป็นคุณค่าที่ใครก็ตามที่เคยได้ถวายงานกับพระองค์จะเข้าใจความหมายในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ และทุกคนดีใจที่ได้ทำ เพราะท่านทรงเป็นต้นแบบ ทรงเป็นตัวอย่าง ทรงทำทุกอย่างเพื่อพสกนิกร เราทำน้อยกว่าพระองค์ตั้งเยอะ ระหว่างที่ถวายงานกับพระองค์ท่าน นอกจากเราจะภูมิใจที่ได้ทำงานเพื่อประเทศแล้ว เราได้เรียนรู้อย่างหลากหลายจากพระองค์ท่าน
ในวาระโอกาสนี้ผมว่าเราน่าจะศึกษา ศาสตร์แห่งพระราชา รัชกาลที่ 9 แต่เป็นการนำมาใช้อย่างง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถใช้ได้
คำว่าศาสตร์พระราชาในความเห็นของผมคือองค์ความรู้ หรือศาสตร์ที่พระราชาพระองค์ใดพระองค์หนึ่งทรงใช้และเกิดประโยชน์กับพสกนิกรของพระองค์ท่าน ซึ่งหนึ่งในศาสตร์พระราชาแห่งรัชกาลที่ 9 ที่คนไทยควรศึกษาและนำไปใช้ทุกคนคือศาสตร์แห่งการดำรงชีวิตเพื่อเป็นพลเมืองดีแห่งประเทศไทย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยพระราชทานสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมี 2 หน้าที่ หน้าที่ ที่ 1 คือหน้าที่ของพระราชา หน้าที่ ที่ 2 คือหน้าที่ของพลเมืองไทย พลเมืองที่ดีที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศ และผมว่าหน้าที่ที่ 2 นี่แหละที่คนไทยน่าจะสามารถทำได้ โดยที่พระองค์ท่านได้แสดงออกอย่างน้อย 4 อย่างที่ผมอยากให้คนไทยสืบสานพระราชปณิธาน ดำรงชีพเหมือนอย่างพระองค์ท่าน
หนึ่งเรื่องความเพียรอย่างที่ผมเล่า โครงการพระราชดำริบางโครงการใช้เวลา 20-30 ปี กว่าจะเกิดผล ถ้าไม่มีความเพียร สิ่งเหล่านี้ไม่เกิด พวกเราเองก็เหมือนกันถ้าเราทำงานแล้วไม่มีความเพียร เจอปัญหาแล้วก็ถอย นอกจากช่วยตัวเองไม่ได้แล้ว ยังช่วยครอบครัวไม่ได้ จะช่วยประเทศก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นความเพียรน่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่เรามองพระองค์ท่านแล้วดำรงชีพตามพระองค์
สองความประหยัด หลอดยาสีฟันที่เห็นนั่นคือเรื่องจริง ถ้าเราใช้แล้วเหลือแล้วทิ้ง ถือเป็นความสิ้นเปลืองที่เกิดขึ้น อย่าคิดว่าเราเป็นประเทศที่มีทรัพยากรทุกอย่างเหลือเฟือ ถ้าเราไม่ช่วยกันระวัง ประหยัด สักวันหนึ่งเราจะไม่มีทรัพยากรให้กับลูกหลานใช้ เพราะฉะนั้นการประหยัดเป็นสิ่งที่คนไทยที่จะเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศควรจะมีไว้
สามการเก็บออม ทำไมศิริราชทำกระปุก แล้วทำไมเราไม่จำหน่าย กระปุกนี้คนที่จะมาได้ไปต้องไปนำกระปุกที่เก็บออมมา เพื่อต้องการจะส่งสัญญาณให้เข้าใจความสำคัญของการเก็บออม ทำไมถึงเป็นรถจี๊ป เป็นกล้องถ่ายรูป เป็นวิทยุสื่อสาร เพราะรถจี๊ปทำให้พระองค์ท่านไปถึงทุกพื้นที่ในประเทศไทย เข้าไปช่วยแก้ปัญหาของพสกนิกร การแก้ปัญหาต้องมีหลักฐาน ต้องมีข้อมูล เพราะฉะนั้นกล้องถ่ายรูปเป็นการเก็บหลักฐานที่ดีที่สุด แล้วที่สำคัญสามารถเปรียบเทียบได้ว่าเมื่อดำเนินการแล้วดีขึ้นหรือไม่ดีขึ้น สามารถถ่ายภาพเพื่อมาเปรียบเทียบได้ ขณะเดียวกันพื้นที่ซึ่งพระองค์เสด็จไป บ่อยครั้งที่เป็นที่ทุรกันดาร โทรศัพท์ก็ไม่มี การติดต่อประสานงานมีความสำคัญ เพราะฉะนั้นวิทยุสื่อสารจึงเป็นสิ่งที่ใช้สื่อสาร 3 อย่างนี้คือเจตนารมณ์ที่ต้องการจะถ่ายทอดให้สังคมไทยได้เข้าใจ
สี่คือการทำตนเพื่อผู้อื่น การดำรงตนเพื่อผู้อื่น 70 ปีที่ทรงครองราชย์ ท่านทรงมีพระมหากรุณาธิคุณกับทั้งประเทศ วารสารเนชั่นแนล จีโอกราฟิก เคยขอพระราชทานสัมภาษณ์เมื่อ ปี พ.ศ. 2525 และทูลถามพระองค์ในเรื่องเกี่ยวกับพระราชอาณาจักรไทย ท่านก็ทรงเปรียบเปรยว่าราชอาณาจักรอื่นๆ เป็นปิรามิดหัวตั้ง พระเจ้าแผ่นดินอยู่ข้างบน ราษฎรอยู่ข้างล่าง ราษฎรเคารพบูชาพระเจ้าแผ่นดิน แต่สำหรับพระเจ้าแผ่นดินในราชอาณาจักรไทย เป็นปิรามิดหัวกลับ พระเจ้าแผ่นดินอยู่ล่างสุด คนก็สงสัยว่าแปลว่าอะไร พระองค์ก็ทรงรับสั่งว่านี่ไงคือสาเหตุที่ทำให้ท่านปวดหลัง ปวดไหล่ตลอดเวลา เพราะพระองค์ทรงแบกรับปัญหาของพสกนิกรของประเทศไว้ บนไหล่ บนคอของพระองค์ นี่คือการดำรงตนเพื่อประโยชน์กับผู้อื่น ที่กล่าวมานี้คงพอเข้าใจถึงหน้าที่การเป็นพลเมืองที่ดีของพระองค์ 4 ข้อนี้ อยากให้ช่วยกันเผยแพร่ นำไปถ่ายทอดและนำไปปฏิบัติครับ

 

✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦

ติดตามนิตยสาร OK! Magazine Thailand ได้ที่นี่

♥ Website : http://www.okmagazine-thai.com/
♥ Instagram : https://www.instagram.com/okmagazinethailand/
♥ Facebook : https://www.facebook.com/okmagthailand
♥ Twitter : https://twitter.com/okthailand

Comments

comments

okadmin

นิตยสาร OK! เป็นนิตยสารรายแรกและเพียงรายเดียวที่อัพเดตข่าวคราวของเหล่าดาราทั้งในและต่างประเทศได้อย่างเจาะลึกทุกซอกทุกมุม รวมทั้งเรื่องส่วนตัวของเหล่าศิลปินและดาราสุดเอ็กซ์คลูซีฟ

RELATED ARTICLES

ก้าวต่อไปในวัย 40 กะรัต ของแอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์

ก้าวต่อไปในวัย 40 กะรัต ของแอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์

โปรเจ็คต์เมื่อไหร่ ไม่เป๊ะ ไม่ปัง ไม่ดัง [...]

READ MORE
ริช ไบรอัน และนิกิ ศิลปินดาวรุ่งจากอินโดนีเซีย ปล่อยเพลงใหม่ฮิปๆ มาให้ติดตาม

ริช ไบรอัน และนิกิ ศิลปินดาวรุ่งจากอินโดนีเซีย ปล่อยเพลงใหม่ฮิปๆ มาให้ติดตาม

ชั่วโมงนี้ไม่เพียงศิลปินรุ่นใหม่ของไทยอย่างลิซ่า BLACKPINK หรือภูมิ-วิภูริศ ศิริทิพย์ [...]

READ MORE