
นักดื่มทั้งหลายคงคุ้นเคยกันดีกับแบรนด์สก็อตช์วิสกี้ชั้นนำระดับโลกอย่าง Chivas Regal (ชีวาส รีกัล) ที่ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี 1909 และได้รับความนิยมมายาวนานจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนอกจากจะให้ความสุขกับนักดื่มแล้ว ชีวาส รีกัล ยังมีแนวคิดที่จะสนับสนุนการทำประโยชน์เพื่อสังคมด้วย โดยจัดเป็นแคมเปญภายใต้ชื่อ Chivas Venture ซึ่งดำเนินงานต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 4 แล้วในปีนี้
Chivas Venture “Win the Right Way”
Chivas Venture เป็นแคมเปญที่เฟ้นหานักธุรกิจไอเดียกระฉูด ที่มีแนวคิดในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับสังคม หรือที่เรียกว่า “Win the Right Way” ประสบความสำเร็จในธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกำไรไปพร้อมกับการเติบโตและพัฒนาไปในทางที่ดีของสังคม
และในแคมเปญ Chivas Venture ในปีที่ 4 นี้ก็ได้ผู้ชนะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คือ อุกฤษ อุณหเลขกะ หรือเอิร์น จาก Ricult (รีคัลท์) สตาร์ทอัพเพื่อสังคมที่มุ่งพัฒนาภาคการเกษตรเป็นหลัก โดยการนำเอาเทคโนโลยีการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางดาวเทียมมาสร้างโมเดล เพื่อช่วยเหลือ และพัฒนาภาคการเกษตรในการเพิ่มปริมาณผลผลิต ลดต้นทุนของเกษตรกร โดยให้ข้อมูลสภาพอากาศ และข้อมูลช่วยเหลือในการตัดสินใจของเกษตรกรผ่านทางแอพลิเคชั่นที่เกษตรกรชาวไทยสามารถเข้าถึงได้ง่ายทั้งในด้านของฟังก์ชันการใช้งาน และราคา
หลังจากที่ได้รับตำแหน่งแชมป์แล้ว คุณเอิร์น และ รีคัลท์ ก็ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนธุรกิจเพื่อสังคมของประเทศไทยไปเข้าร่วมแคมเปญ Chivas Venture ในระดับโลกเพื่อชิงเงินสนับสนุนกว่า 1 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ตัวแทนประเทศไทยอย่าง สยาม ออแกนิค ได้เคยไปคว้าแชมป์มาแล้วในปี 2017
ในปีนี้ ธุรกิจที่ได้รับรางวัลชนะเลิศของแคมเปญคือสตาร์ทอัพจากกรุงลอนดอนอย่าง CHANGE PLEASE ซึ่งมี Cemal Ezel (ซีมอล เอเซล) เป็นผู้ก่อตั้ง โดยให้ความช่วยเหลือกับคนไร้บ้านให้มีงานอยู่ภายในร้านกาแฟที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีเงินเดือน และมีที่อยู่อาศัย
แต่ถึงแม้ว่าครั้งนี้ คุณเอิร์น และ ทีมรีคัลท์ จะไม่ได้คว้ารางวัลกลับมา แต่แนวคิดสตาร์ทอัพของเขานั้นน่าสนใจ และน่าจะทำประโยชน์กับภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยได้อย่างดีเยี่ยม ลองมาทำความรู้จักกับ CEO ไอเดียดี และธุรกิจของเขาว่ามีไม้เด็ดอะไรที่ทำให้สามารถคว้าแชมป์ Chivas Venture ประเทศไทยไปครองได้
รู้จักกับ ‘ เอิร์น – อุกฤษ อุณหเลขกะ ‘
เล่าประวัติคร่าวๆ แนะนำตัวให้เรารู้จักกันหน่อย
ชื่อเล่นชื่อ เอิร์น ชื่อจริงชื่อ อุกฤษ อุณหเลขกะ เป็น ฟาวเดอร์ และ CEO ของ Ricult (รีคัลท์) ครับ รีคัล เป็นธุรกิจที่เราใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม และบิ๊กดาต้าสมัยใหม่เข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนให้เกษตรกรไทย จะได้มีกำไรมากขึ้น เราใช้ข้อมูลที่มีเนี่ยไปช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงให้กับทางธนาคารด้วย เพื่อที่จะปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรไทยได้ง่ายและเร็วขึ้น แทนที่เขาจะไปกู้นอกระบบ ด้วยดาต้าที่เราให้เกษตรกร จะช่วยให้ธนาคารวิเคราะห์ความเสี่ยงและปล่อยเงินสินเชื่อในราคาที่ถูกลง
เรียนจบมาทางด้านไหน ตอนนี้อายุเท่าไหร่
ผมอายุ 29 ปี จบด้านวิศวะและบริหารจาก MIT ที่บอสตัน อเมริกา เคยทำงานเป็นที่ปรึกษาธุรกิจ ที่ The Accenture Boston อยู่ประมาณ 4 ปี และเคยเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ที่ Silicon valley (ซีลีคอนวัลเลย์) อยู่ปีนึง อยู่อเมริกามา 10 กว่าปี เพิ่งกลับเมืองไทยเมื่อปีที่แล้วเพื่อมาก่อตั้งบริษัทนี้ พอไปอยู่ที่นั่นได้เห็นว่าเทคโนโลยีมันเปลี่ยนแปลงโลกไปเยอะมาก ทุกอย่างเป็นดิจิตัลไปหมดแล้ว เปลี่ยนรูปแบบวงการต่างๆ แต่ผมเห็นว่าภาคการเกษตรของประเทศไทย ยังไม่ค่อยมีใครเอาดิจิตอลเข้ามาช่วยมาเปลี่ยนแปลงทำให้ระบบมันดีขึ้น ถ้าเราดูในอุตสาหกรรมอื่น ไม่ว่าจะเป็นการขนส่ง หรือการเดินทางของคน เรายังมี Grab (แกร๊บ) หรือ Uber (อูเบอร์) ที่ทำให้เราสามารถเรียกรถได้รวดเร็วสะดวกมากขึ้น หรือถ้าเราจะสั่งอาหาร ก็มีแอพให้เราได้สั่งอาหารมากมาย แต่ทำไมไม่มีใครเอาเทคโนโลยีมาเปลี่ยนแปลงวงการเกษตร ซึ่งเป็นวงการที่สำคัญของประเทศไทยเลย นี่คือสาเหตุหลักที่ผมมาก่อตั้ง รีคัลท์ ขึ้น
ที่บ้านทำธุรกิจอะไร
ที่บ้านทำอสังหาฯ และทำสวนยาง ทำสวนยูคาลิปตัส ทำสวนทุเรียนด้วย อยู่ที่ฉะเชิงเทราครับ บ้านเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างใหญ่ ทำงานกับเกษตรกรรายย่อยค่อนข้างเยอะ เลยทำให้เห็นปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง และความที่ผมเคยไปเรียนวิศวะและบริหารจาก MIT และเคยทำงานที่ซิลิคอนวัลเลย์ ทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีมันเปลี่ยนแปลงอะไรได้เยอะ เลยอยากเอาเทคโนโลยีเนี่ยกลับมาเมืองไทย มาเปลี่ยนแปลงการเกษตรของไทยบ้าง
ไปอยู่อเมริกามาเป็น 10 ปี คิดว่าการเกษตรของประเทศไทยมันห่างไกลจากตัวเราไหม เพราะโครงสร้างน่าจะไม่เหมือนกันเลย
ผมเป็นคนที่ชอบอ่านการเปลี่ยนแปลงของสังคม ต้องเกริ่นก่อนว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ก่อนหน้านี้ตอนที่เขาเคยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา เคยมีการเกษตรเป็นกระดูกเป็นสันหลังของชาติ ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี ทุกชาติเคยมีประชากรส่วนมากอยู่ในแวดวงการเกษตร แต่พอเขาเจริญขึ้น คนทำเกษตรจะน้อยลงเพราะเอาเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น ผมคิดว่าประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างนั้น ผมเลยคิดว่าอยากเป็นตัวขับเคลี่อนที่เอาเทคโนโลยีมาทำให้ผลผลิตมากขึ้น
ถ้าเราอยากทำให้ประเทศพัฒนา ภาคการเกษตรต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้องทำให้มันแข็งแรงมากขึ้น รายได้ของเกษตรกรก็ควรจะมากขึ้นด้วย ถ้าเกิดเราไปดูคนยากจนในโลกนี้ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ส่วนมากยังเป็นเกษตรกรอยู่ หนึ่งใน 3 ของประชากรในประเทศยังอยู่ในแวดวงการเกษตร และส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิตให้เขาได้ ในปีที่ผ่านมา เราช่วยเกษตรกรไปประมาณ 200 กว่าคน เราเพิ่มรายได้เขาได้มากกว่า 50% โดยที่เรามีผลลัพธ์จริงจังเลยว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นสามารถช่วยเขาได้จริง ทั้งเรื่องการศึกษา สุขภาพ และอาหารการกิน ซึ่งในปีนี้เราก็จะขยายเพิ่มขึ้นไปอีกกว่าพันราย
กลุ่มเกษตรกรที่เน้นเป็นเกษตรกรรายย่อย รายบุคคล ไม่ใช่ชุมชนใช่ไหม
ใช่ครับ เราขยายผ่านเกษตรกรรายย่อย แต่เราเข้าผ่านชุมชน และเครือข่าย อย่างเช่น ธนาคาร ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ของไทย หรือโรงงาน อย่างเช่นโรงงานข้าวโพด โรงงานอ้อย โรงงานมัน ซึ่งเขาจะมีเครือข่ายเกษตรกรรายย่อยอยู่แล้ว เราพบว่าธุรกิจเพื่อสังคมอื่นๆ ของไทยที่ผ่านมาอาจจะไม่สามารถเจาะกลุ่มเกษตรกรได้เยอะเพราะว่าเขาไปเปลี่ยนเกษตรกรทีละรายๆ ซึ่งเกษตรกรก็จะสงสัยว่าคุณมาจากกรุงเทพฯ จะมาเข้าใจเรื่องการเกษตรได้อย่างไร ของผมก็จะสลับกันคือ จะดูก่อนว่าเขาเชื่ออะไร เขาเชื่อธนาคารที่ปล่อยกู้ให้เขา เขาเชื่อโรงงานที่รับซื้อผลผลิตของเขา ผมก็เลยไปเข้าผ่านคนที่เขาเชื่อถืออยู่แล้ว หรือผมไปเข้าผ่านผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งจะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าผม ผมก็ขอให้เขาช่วยแนะนำหน่อย ให้เกษตรกรลองใช้รีคัล ว่ามันจะช่วยเพิ่มผลผลิตให้เขาได้จริงหรือเปล่า จริง ๆ มีเกษตรกรที่สนใจจะใช้อยู่ประมาณ 5 หมื่นราย แต่ตอนนี้เราให้ใช้ก่อน 1 พันราย ซึ่งปลายปีนี้ก็จะเปิดให้ทั้ง 5 หมื่นรายได้ใช้
เราสามารถควบคุมโรงงานเพื่อไม่ให้เขากดราคาเกษตรกรได้ไหม
ช่วยได้ครับ เพราะว่าเราเชื่อว่าการจะเปลี่ยนแปลงวงการเกษตร เราต้องเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ นอกจากการปล่อยสินเชื่อหรือให้เกษตรกรได้เพิ่มผลผลิตการที่เข้าถึงโรงงานในการรับซื้อ หรือการที่ได้เข้าถึงภาครัฐ อย่างกระทรวงต่าง ๆ ผมได้มีโอกาสเข้าไปคุยกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการเกษตร คือข้อมูลของผมเป็นบิ๊กดาต้าซึ่งคำนวณพื้นที่ได้ว่าที่ไหนจะให้ผลผลิตเท่าไร เราก็สามารถจะใช้นโยบายจากรัฐมาช่วยพยุงราคาได้ ถ้าเกิดมีปัญหาเขาก็เข้ามาช่วยแก้ไข แต่จริง ๆ แล้วผลผลิตทางการเกษตรหลายตัว อย่างเช่น ข้าวโพดและมัน มันมีความต้องการในตลาดมากกว่าจำนวนที่ผลิตได้ โรงงานก็จะบอกเสมอว่าผลิตออกมาเลยเขารับซื้อหมดอยู่แล้ว แทนที่จะนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งต้นทุนสูง ถ้าผมสามารถเพิ่มผลผลิตได้จริง ๆ เขาจะรับซื้อหมด และถ้าหาว่าผลผลิตเริ่มล้นตลาด ผมสามารถแนะนำได้ว่าควรจะไปปลูกพืชประเภทอะไรแทนจากกระบวนการแก้ปัญหาที่เรามี
“Those who feed us, need us”
ได้ไอเดียในการทำธุรกิจมาจากที่ไหน
เริ่มจากตอนที่ผมเข้าเอ็มไอที เรียงความที่ผมเขียนบอกว่า อยากเอาเทคโนโลยีมาเปลี่ยนแปลงวงการเกษตรเมืองไทย แล้วเขาก็รับเข้าไป คลาสแรกที่ผมเข้าไปเรียนเนี่ยเป็นเรื่องของ Entrepreneurship เกี่ยวกับการทำธุรกิจผมก็ไปคิดไอเดียเลยว่า อยากเอาเทคโนโลยีมาเปลี่ยนแปลงสังคมในประเทศกำลังพัฒนา และโชคดีที่ผมเจอโคฟาวเดอร์เป็นคนปากีสถานที่เข้าก็มีไอเดียเหมือนกันเป๊ะ เลยทำให้ค้นพบว่าปัญหาเรื่องการเกษตรในประเทศกำลังพัฒนามันเหมือนกันเป๊ะ ตอนนี้รีคัลก็มีอยู่ที่ปากีสถานด้วย มีโรงงานอยู่ที่นึงเขาอยากให้เราพิสูจน์ว่าเราทำได้จริง และถ้าทำได้จริง เขาจะเอาเราเข้าไปทำในลาว เขมร และเวียดนามด้วย ที่มีปัญหาเหมือนกันเลย ซึ่งเราถ้าเราทำได้จริงนั่นแสดงว่าสามารถแก้ปัญหาได้เกือบทั่วโลก
พวกดาต้า ข้อมูลต่าง ๆ ได้มาจากไหน เราจะแปลสารตรงนั้นอย่างไร
การทำเทคโนโลยี การวิเคราะห์ข้อมูล ก็เป็นจุดหนึ่งที่สำคัญ แต่จุดสำคัญอีกอย่างคือการแปลงให้เข้าใจง่าย ว่าจะทำได้อย่างไร เพราะว่าถ้าข้อมูลยากไป เกษตรกรที่ไม่ได้คุ้นเคยกับเทคโนโลยีก็อาจจะไม่ได้ใช้ เราจะแปลงข้อมูลทุกอย่างให้อยู่ในแพตฟอร์มที่ดูง่ายเพราะพวกเขาใช้ไลน์และเฟสบุ๊กอยู่แล้ว คุ้นเคยกับสติกเกอร์ คุ้นเคยกับอีโมติคอน แอพพลิเคชั่นของเราก็จะอยู่ในรูปแบบที่ง่าย สามารถบอกขั้นตอนได้เลยว่าเขาจะต้องปลูกเท่าไร่ มีพื้นที่เท่าไหร่ แล้วเขาก็จะเข้าถึงข้อมูล ซึ่งเราก็รู้ด้วยว่าเกษตรกรบางคนอ่านหนังสือไม่ได้ เราก็มีระบบพูดให้ฟัง ระบบของเราก็จะบอกว่าฝนจะตกกี่โมง ความชื้นในอากาศจะมีเท่าไร คุณควรทำยังไง มีข้อมูลอากาศ ฝน อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย แล้วเราก็มีระบบแจ้งเตือนด้วย หากน้ำจะท่วม หรือจะแล้งเป็นพิเศษ จะมีข้อความแจ้งเตือนเขาเลย เราอยากให้แอพพลิเคชั่นนี้เป็นสิ่งที่เกษตรกรตื่นมาดูทุกเช้า เหมือนที่คนในกรุงเทพฯ ชอบเปิดเฟสบุ๊ค
เราพยากรณ์ล่วงหน้าได้นานแค่ไหน
พยากรณ์ได้ 6 เดือนถึง 1 ปีเลย เราสามารถบอกล่วงหน้าว่าควรจะลงเมล็ดปลูกข้าว ปลูกข้าวโพด จากวันนี้จนถึงวันไหนที่ปลูกได้ดีที่สุด แต่ถ้าเป็นระดับรายชั่วโมงเนี่ยเรายังดูได้แค่ 7 วัน จริง ๆ แล้วประเทศไทยก็มีข้อมูลการพยากรณ์อาการที่ค่อนข้างโอเค แต่ปัญหาคือวิธีการเผยแพร่ จะผ่านวิทยุผ่านทีวี ซึ่งเขาจะบอกได้ในระดับจังหวัด อย่างจังหวัดสระบุรีฝนตก 30 % ของพื้นที่ซึ่งเกษตรกรไม่รู้เลยว่าส่วนที่ 30% นั้นมันมีผลกับตัวเขาหรือเปล่า ข้อมูลดินฟ้าอาอากาศนี้มันสำคัญมากต่อการลงเมล็ด การใส่ปุ๋ย การเก็บเกี่ยว ถ้าลงเมล็ดผิดวันเนี่ย ผลผลิตจะมีควาแปรปรวน 20-30% รายได้เขาแปรปรวนเกือบ 50 % เราสามารถให้ข้อมูลแบบรายแปลงได้ แทนที่จะเดินดูในแปลง 50 ไร่ เพื่อหาปัญหาต้องใช้เวลา 7 – 8 ชั่วโมง เขาแค่เปิดแอพพลิเคชั่นดูวิเคราะห์เลยว่าตรงไหนมีปัญหา เขาแค่เดินไปในบริเวณที่มีปัญหา ประหยัดเวลาจาก 6 ชั่วโมง เหลือ 30 นาที เราช่วยเป็นตัวตัดสินใจให้เขา เราช่วยให้เกษตรกรไทยเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์มากขึ้นเราช่วยเขาในการตัดสินใจมากขึ้นในหลายๆ เรื่อง
ยากไหม ในการที่เราจะเข้าไปอธิบายเรื่องพวกนี้ให้เกษตรกรได้เข้าใจ
ผมคิดว่ายาก แต่สนุก ความยาก มันยากที่พวกเขาไม่เคยใช้เทคโนโลยีมาก่อน ทำยังไงที่เขาจะเชื่อใจเรา อย่างการโหลดแอพพลิเคชั่น คนกรุงเทพจะกล้าลองอะไรใหม่ ๆ มากกว่า เพราะว่าเขาคุ้นเคยอยู่แล้ว แต่การที่จะให้เกษตรกรมาเชื่อข้อมูลของเรา มาใช้แอพพลิเคชั่นของเราเนี่ย มันเป็นรายได้ของเขาเลย ถ้าเขาเชื่อเราแล้วรายได้ของเขาตกลงไปล่ะ ทำยังไงเราถึงจะสร้างความเชื่อมั่นได้ เราต้องทำแปลงงทดลองก่อน เราต้องมีกลุ่มเกษตรกรตัวอย่าง ปากต่อปากต่อ ข้อดีของชุมชนก็คือถ้าเห็นว่าเพื่อนบ้านเขาทำแล้วดี เวิร์ดออฟเมาท์ คำพูดปากต่อปากมันจะเร็วมาก ตอนนี้เราล็อคแค่สระบุรี และราชบุรีเพราะอยากพิสูจน์ว่ามันทำได้จริงก่อน แต่มีเกษตรกรจากเชียงใหม่ เชียงราย อินบ็อกซ์เฟสบุ๊คมาหาเราเยอะมาก ว่าอยากลองทำมาก ๆ เราจะเปิดให้คนทั่วไปได้ใช้ในช่วงเดือนสิงหานี้ เราอยากให้คนทั้งประเทศได้ใช้
เล่าเรื่องสนุก ๆ ตอนลงไปสำรวจพื้นที่ให้ฟังกันหน่อย
“เคยไปหาผู้ใหญ่บ้านแล้วผู้ใหญ่บ้านวิ่งหนีเรา”
เราก็บอกเขาไปว่าเราเป็นใครนัดเจอเราหน่อยได้ไหม เขาก็งงว่าเทคโนโลยี เขาไม่เคยใช้มาก่อน เราก็นัดเขาเสร็จสับไปรอเขาที่บ้านเขามาเลตครึ่งชั่วโมง พอเจอเราปุ๊บเขาก็ขับรถหนีออกจากบ้านไปเลยต่อหน้าต่อตาเลย บอกว่าเดี๋ยวกลับมาหายไปชั่วโมงนึงก็ไม่มาสักที ก็เลยขับรถตามก็ถามคนในชุมชนว่าผู้ใหญ่บ้านไปไหน จนไปดักรอเจอกลางทาง บอกว่าหนีผมทำไม ก็เลยรู้ว่ามันชอบมีปัญหาว่าคนจากกรุงเทพไปหลอกเขาทั้งเรื่องปุ๋ยปลอม มาหลอกขายอะไรแปลก ๆ คนในชุมชนโดนหลอกเยอะ ก็ชี้แจงให้เขาเข้าใจว่าเราไม่ได้มาหลอกเขาแต่เราตั้งใจจะเอาเทคโนโลยีมาช่วยเหลือเขาจริง ๆ
หรือเรื่องที่ผมค่อนข้างตกใจเขาก็ยังใช้การปลูกแบบเดิม ๆ อยู่ อย่างถามว่าฝนจะตกเมื่อไรจะดูจากอะไร เขาก็บอกว่าจะดูว่ามดเดินไปทางไหน นกจะบินไปทางไหน เขายังพึ่งไสยศาสตร์มากกว่าวิทยาศาสตร์ หรือว่าบางคนเชื่อว่าการใส่เครื่องดื่มมชูกำลังจะทำให้ข้าวโพดเติบโตเร็วขึ้นเพราะมันมีวิตามิน ซึ่งมันไม่จริง เราก็ได้รู้อะไรน่ารักๆ เยอะ ที่ผมชอบคือ คนในต่างจังหวัดหรือคนในชุมชนเนี่ยใจดีมาก ไปนั่งกินข้าวกับเขา เขาก็ค่อนข้างที่จะดีใจที่มีคนรุ่นใหม่เข้าไปคุยกับเขา เพราะส่วนใหญ่ลูกหลานไปทำงานที่กรุงเทพฯ ไปเรียนตามจังหวัดอื่น ส่วนตัวเขาก็ทำการเกษตรอยู่ที่นี่ เป็นสิ่งที่ผมประทับใจมาก ทุกคนเป็นคนดีแล้วก็ใจดี
ทำไมถึงเลือกชุมชนนี้เป็นชุมชนแรก
เนื่องจากเราเป็นสตาร์ทอัพ เราเลยอยากได้พื้นที่ที่เห็นผลได้เร็ว ซึ่งข้าวโพดเนี่ยปลูกแค่ 4 เดือน เห็นผลเร็ว แล้วเราก็เลือกพืชที่มีความต้องการในตลาด แต่ในส่วนของข้าว ที่เป็นเป้าหมายของเราในปีหน้า ตัวนั้นจะยากกว่า และค่อนข้างใช้เวลานาน คนปลูกค่อนข้างเยอะ เราอยากจับโปรดักท์ที่เฉพาะเจาะจงหน่อย ที่เข้าไปแล้วเปลี่ยนแปลงได้เร็ว เราจะได้มีผลสำเร็จ มีหลักฐานไปบอกเกษตรกรได้ ที่เลือกเป็นสระบุรีเพราะเราเป็นพาร์ทเนอร์กับ ธ.ก.ศ. แล้วเราระบุว่าเราอยากได้ผู้ปลูกข้าวโพด ซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อย อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯมาก ไปเช้าเย็นกลับได้ ก็เลยได้เป็นที่นี่
ยากไหม กับการอธิบายเทคโนโลยีอย่างนี้ให้กับ ธนาคาร โรงงาน เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก
ตอนนี้ธนาคาร โรงงาน และหน่วยงานรัฐสนใจมาก แต่ว่าไม่มีคนทำ ซึ่งเราอยากจะพัฒนาไปทั้งสายงานให้มันมีประสิทธิภาพ ทั้งธนาคารที่ให้สินเชื่อ โรงงาน ในการจัดการการรับซื้อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หน่วยงานรัฐก็ต้องการ ทุกคนต้องการหมด ซึ่งเกษตรกรก็ต้องการเยอะมาก ผมคิดว่าเทคนิคในการทำสตาร์ตอัพเนี่ย หรืออะไรที่ใหม่มาก ๆ เขาไม่ได้สนใจหลังบ้านว่าเราทำยังไง แต่เขาสนใจว่าเขาได้อะไร อย่างผมไปหาเกษตรกรว่าการเพาะปลูกของเขาต้องดูอะไรบ้าง เขาก็บอกว่าต้องดูดินฟ้าอากาศ ดูฝน ดูดิน ก็บอกเขาไปว่าจะดีไหมถ้าผมสามารถบอกพี่ได้ทุกเช้าว่าฝนจะตกกี่โมง จะตกไม่ตก เราต้องเริ่มมาจากสิ่งที่เขาคุ้นเคยอยู่แล้ว
สิ่งที่ผมได้เรียนรู้คือ เราจะเปลี่ยนแปลงความคิดของเขามากไม่ได้ ถ้าเราเปลี่ยนเยอะเกินไป เขาจะไม่เชื่อ เราต้องดูว่าวิธีความคิดเขาเป็นยังไงบ้าง เขาเพาะปลูกยังไงบ้าง แล้วเราจะเข้าไปเสียบตรงไหนได้บ้าง ผมว่า Empathy หรือการเข้าใจคน เข้าใจชุมชน เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราต้องเริ่มจากตัวเขา ปัญหาเขาคืออะไร การตัดสินใจเขาคืออะไร เราจะเริ่มจากจุดที่ว่า เขาจะทำยังไงให้ส่งลูกเรียนได้ เขาถึงบริการสุขภาพได้ ก็คือต้องมีรายได้ แล้วเราค่อยวกกลับมา
แอพพลิเคชั่นของ Ricult ต่างจากพยากรณ์อากาศยังไง
เราไม่ได้แค่พยากรณ์อากาศ อย่าง Google weather จะบอกคร่าวๆ บอกระดับอำเภอ แต่เราบอกได้ระดับรายแปลง แล้วเราเอาข้อมูลทางอากาศไปผูกกับพืชที่เขาปลูก ถ้าเขาบอกว่าเขาจะปลูกข้าวโพดเนี่ย เราจะบอกเขาเลยว่าในแต่ละวันเขาควรทำอะไรบ้าง เอาไปช่วยในการตัดสินใจ อย่างเช่นวันที่หนึ่งควรใส่ปุ๋ยเวลากี่โมง เพื่อฝนจะตกพอดี วันที่ 10 คุณควรรดน้ำ หรือไม่ลดน้ำเพราะฝนจะตกอยู่แล้ว เพราะมันจะประหยัดเงินได้ หรืออย่างวันไหนคุณควรจะเก็บเกี่ยวเพื่อให้ได้ราคาที่ดีที่สุด เราเอาดาต้ามาช่วยตัดสินใจในการเพาะปลูกของเขาได้ในทุกขั้นตอน เหมือนเราเป็นสมองที่สองในการช่วยตัดสินใจ เอาภาพถ่ายทางดาวเทียมมาช่วยเขา ทำให้เขาไม่ต้องเสียเวลา
อีกหนึ่งสิ่งที่ผมต้องทำก็คือ จะทำยังไงให้เทคโนโลยีในระดับสูง ที่ราคาก็ค่อนข้างสูง สามาถจับต้องได้ เราอาจจะเอามาบางส่วนที่เอามาช่วย ในราคาที่จับต้องได้
ทุกวันนี้อะไรคือปัญหาของเกษตรไทย
จริง ๆ แล้วปัญหามันมีอยู่เยอะมาก ในส่วนของผม ปัญหาที่แก้ได้ คือ ปัญหาในเรื่องการตัดสินใจว่าควรจะปลูกอะไร ปลูกยังไง ปลูกเมื่อไหร่ ทำยังไงให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ช่วยให้เขาเข้าถึงแหล่งเงินทุน ช่วยเขาขายให้ได้ราคาให้มีราคามากขึ้น แต่ส่วนที่แก้ไม่ได้ก็คือเรื่องน้ำ เพราะในการทำการเกษตร น้ำสำคัญมาก แต่ระบบการชลประทานของประเทศไทยยังไม่ค่อยทั่วถึง อาจจะต้องเป็นนโยบายของรัฐในการสร้างเขื่อน หรือพัฒนาระบบชลประทานให้ดีขึ้น อย่างข้าวโพดที่ปลูกได้แค่ 4 เดือน ต่อจากนนั้นก็ต้องปล่อยไร่ทิ้งร้างไปเลย เพราะไม่มีน้ำเพาะปลูก แต่ถ้าระบบชลประทานเข้าถึง ทำให้เขาเพาะปลูกได้มากขึ้น ซึ่งถ้าทำได้มันจะเพิ่มรายได้ให้เขาหลายเท่าเลย
คนกรุงอาจจะดีใจที่รถไฟฟ้าวิ่งผ่าน แต่คนต่างจังหวัดดีใจที่มีระบบชลประทานผ่าน เพราะเขาจะได้มีเวลาทำการเกษตรเพิ่มมากขึ้น อย่างในปากีสถาน ระบชลประทานค่อนข้างดี ซึ่งระบบของรีคัลก็เชื่อมกับระบบชลประทานด้วย ถ้าเรารู้ว่าฝนจะตกหรือไม่ตก มันสามารถเอาไปควบคุมการเปิดน้ำปิดน้ำได้
ถ้าไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อสังคมในด้านนี้ อยากทำด้านไหน
อีกเรื่องที่ผมสนใจคือเรื่องของการศึกษา ผมคิดว่ามันยังมีความเหลื่อมล้ำสูงในด้านของการศึกษา ผมเชื่อว่า AI, Machine Learning, และเทคโนโลยีต่าง ๆ จะเปลี่ยนระบบการทำงาน จะมีหุ่นยนต์มาช่วยในการทำงานมากขึ้น สกิลที่คนต้องมีมันก็เปลี่ยนไป เพราะมีหุ่นยนต์มาทำแทนแล้ว เราจะพัฒนาการศึกษายังไง จะฝึกคนกลุ่มนี้ยังไงให้ทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ได้ ทำยังไงที่จะมีความรู้เกี่ยวกับดิจิตอลมากขึ้น พวกดิจิตอลมาก็ตติ้ง หรือการขายของออนไลน์ หรือความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของในกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด เราจะเอาเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาปรับปรุงยังไง เนื่องจากผมเรียนมาทางวิศวะและบริหาร ผมเลยชอบและสนใจกับการที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการอุตสหกรรมต่าง ๆ ผมรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรมันท้าท้าย เช่นเดียวกันกับการศึกษา ที่คิดว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพมันได้
โดยทั่วไปแล้วมีแอพพลิเคชั่นสำหรับเกษตรกรอยู่เยอะไหม
มีครับ สำหรับเกษตรกรที่ค่อนข้างมีฐานะ ในประเทศที่พัฒนาแล้วมีเยอะพอสมควร แต่สำหรับเกษตรกรรายย่อยยังไม่ค่อยมี ของเรา การดีไซน์ การออกแบบแอพลิเคชั่น ก็จะแตกต่างกันระหว่างกลุ่มเกษตรกรในประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้ค่อนข้างสูง กับเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ไม่มาก เพราะความรู้ความสามารด้านดิจิตอล และการรับรู้หรือเข้าใจจะต่างกัน ผมพยายามที่จะแปลอะไรยากๆ เพื่อให้มันง่ายต่อเกษตรกรไทย
คิดว่าวงการธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง
ข้อดี คือ คนไทยตื่นเต้นอยากเปลี่ยนแปลงสังคมค่อนข้างเยอะ ปัญหาคอรัปชั่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในประเทศไทยค่อนข้างเยอะ ผมคิดว่าคนไทยเริ่มมีความสนใจเรื่องธุรกิจเพื่อสังคมเยอะ แต่อย่างหนึ่ง ที่อยากแชร์ ก็คือ จะเห็นเลยว่าประเทศอื่น ๆ ธุรกิจเพื่อสังคมของเขาจะค่อนข้างล้ำมาก ๆ เริ่มเอาหุ่นยนต์มาแก้ปัญหาสังคม เอาเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาค่อนข้างเยอะ ในประเทศไทยยังไม่ได้เอาเทคโนโลยีมาใช้มากขนาดนั้น อีกอย่างหนึ่ง คือปัญหาสังคมในประเทศไทย กับประเทศทางยุโรปแตกต่างกันมาก ทีมที่มาจากเอเชีย หรือแอฟริกาจะเน้นไปทางด้านการเกษตรเยอะ แต่ถ้าเป็นทางยุโรปเขาจะเน้นไปเรื่อง รักร่วมเพศ คนพิการ ซึ่งเป็นปัญหาของประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างเช่น เราจะช่วยเหลือคนที่ไม่มีบ้านยังไง ในยุโรปเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำไปแล้วที่นำมาแก้ปัญหาสังคม
โดยส่วนตัวเคยมีคำถามไหมว่าทำไมกรรมการถึงเลือกเราเป็นตัวแทน
มีครับมี ผมคิดว่า หนึ่ง คือ เกษตรกรเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในแวดวงนี้ และยังไม่เคยมีเทคโนโลยีทางการเกษตรอันไหนมาเปลี่ยนแปลงวงการนี้ได้จริง ๆ จังๆ แล้วเราสามารถมีรายได้มาจุนเจือตัวธุรกิจ และช่วยเหลือสังคมไปได้พร้อม ๆ เรามีรายได้จริง ๆ มีผลลัพธ์ออกมาจริง ๆ แล้วเราสามารถขยายออกไปได้ เพราะเกษตรกรในประเทศอื่น ๆ ก็มีปัญหาในแบบเดียวกัน ขยายไปทั่วโลกได้
หากใครสนใจอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม หรือติดตามข่าวสารเกี่ยวกับธุรกิจสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ในเว็บไซต์ www.ricult.com หรือทาง Facebook: Ricult
✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦✦
ติดตามนิตยสาร OK! Magazine Thailand ได้ที่นี่
♥ Website : http://www.okmagazine-thai.com/
♥ Instagram : https://www.instagram.com/okmagazinethailand/
♥ Facebook : https://www.facebook.com/okmagthailand
♥ Twitter : https://twitter.com/okthailand
Comments
comments