นาน ๆ จะหวานที ไรอัน กอสลิง...
By okadmin
สัมผัสใกล้ชิดกับศิลปินแจ๊สสุดแนว เจมี่ คัลลัม
กลับไปในปี 2003 คนทั่วโลกที่หลงรักเพลงแจ๊สได้สัมผัสเสน่ห์ของนักร้องหนุ่ม เจมี่ คัลลัมเป็นครั้งแรกพร้อมอัลบั้มแจ้งเกิดอย่าง Twentysomething ที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก OK! ไม่พลาดที่จะคว้าโอกาสร่วมพูดคุยกับนักร้อง นักแต่งเพลงเปี่ยมพรสวรรค์ที่ลดดีกรีความซ่า แต่มาพร้อมความสุขุมนุ่มลึก และอัลบั้มใหม่ Interlude ที่ละเมียดละไมกลมกล่อม
เรารู้มาว่าคุณเคยมาเที่ยวที่กรุงเทพฯ และชอบกินเผ็ดเหมือนกัน
ผมเคยมากรุงเทพฯ เมื่อ 10 ปีที่แล้วกับแฟนเก่าครับ ตอนนั้นถือได้ว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ กรุงเทพฯ สำหรับผมเปรียบได้กับเมืองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทุกคนมีชีวิตชีวา ซึ่งคาแร็กเตอร์ค่อนข้างแตกต่าง ไม่เหมือนกับผู้คนจากประเทศอื่นในเอเชีย ผมสังเกตเห็นความหลากหลายทางเชื้อชาติที่มาอยู่ในที่เดียวกัน และรู้สึกตื่นเต้นที่ได้กลับมากรุงเทพฯ อีกครั้ง
ช่วยเล่าให้เราฟังถึงความรักของคุณที่มีต่อดนตรีแจ๊ส และจุดเริ่มต้นของความสนใจในแนวเพลงนี้
ผมเติบโตมากับดนตรีหลากหลายแนว ผมสนใจแจ๊ส เพราะว่าผมอยากทำเพลงแนวนี้ให้แตกต่างจากแนวอื่น ก่อนหน้านี้ผมเคยอยู่ในวงฮิปฮอป ตอนนั้นเล่นคีย์บอร์ดกับกีตาร์ และตอนซ้อมวงจะมีช่วงเวลาว่างที่แต่ละคนจะเล่นเพลงแนวอะไรก็ได้ 3-4 นาที ผมยังอายุน้อยและคิดว่าแจ๊สสามารถเติมเต็มช่องว่างตรงนี้ได้ ซึ่งหมายถึงการเล่นอิมโพรไวส์ ผมไม่ได้เรียนดนตรีมาโดยตรง ทุกอย่างเกิดจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ตอนนั้นผมสนใจอยากเป็นดีเจด้วยซ้ำเพราะชอบรีมิกซ์เพลง เป็นการนำเพลงแจ๊ส ป๊อป และร็อกมาผสมกัน แต่วันหนึ่งมีคนมาบอกผมว่าคุณทำแบบนี้ไม่ได้ มันไม่ได้ช่วยให้พัฒนาการด้านดนตรีของคุณดีขึ้น จนกว่าผมจะได้บันทึกเสียงจริงจัง ในขณะเดียวกัน คนที่ได้ฟังเพลงของผมในช่วงเวลานั้นก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เพลงที่ผมทำเป็นแนวแจ๊ส ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทำให้ผมเข้าใจแนวดนตรีของตัวเอง
ดนตรีมีความสำคัญกับคุณอย่างไรบ้าง
ผมไม่ค่อยได้รับความกดดันจากใครในการทำดนตรี ทุกการเรียบเรียงหรือการแต่งเพลงมันกลั่นออกมาเป็นธรรมชาติ สิ่งสำคัญอย่างแรกคุณต้องมีความหลงใหลในดนตรี มีการวางแผนการทำเพลง ครอบครัวไม่ได้บังคับผมให้ทำเพลงแนวใดแนวหนึ่ง พวกเขาให้อิสระผมเต็มที่ พี่ชายของผม (เบน คัลลัม) ก็เป็นนักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์ที่ประสบความสำเร็จ
ดูเหมือนว่าคุณได้แรงบันดาลใจจากการทำเพลงหลายแนวมาก
ใช่ครับ ยุค 90 เป็นช่วงเวลาที่ฮิปฮอปได้ผสานเข้ากับแจ๊ส อย่างที่คุณรู้ว่าแจ๊สสามารถรวมเข้ากับซาวนด์แบบไหนก็ได้ เช่น บลูส์ โซล หรือฮิปฮอปที่ผมได้พูดถึง ผมเริ่มต้นจากแจ๊ส และเริ่มชอบฮิปฮอปเพราะว่าชอบไปเที่ยวคลับและเต้น ผมเริ่มเรียนกลองเป็นอย่างแรก แต่คนส่วนใหญ่มักเริ่มเรียนดนตรีจากเปียโน ผมมีความเชื่อว่าเราควรจะใช้เครื่องดนตรีที่มีอยู่รอบตัวมาสร้างเสียงดนตรี ถ้าคุณตั้งใจ เล่นได้ดี ซาวนด์ก็ออกมาดี การทำดนตรีสำหรับผมคือ การมิกซ์แนวต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นแนวเดียวกัน เช่น ถ้าคุณฟังเพลง คุณได้ยินซาวนด์แบบไมเคิล แจ็กสัน พอลองตั้งใจฟังให้ดี คุณอาจจะได้ยินซาวนด์ของนักดนตรีคนอื่น ๆ ด้วย
ดนตรีสำหรับคุณแล้วเปรียบได้กับส่วนหนึ่งของชีวิตที่ขาดไม่ได้
ดนตรีที่ดีต้องออกมาจากใจ ถ้าคุณไม่ได้รู้สึกจริง ๆ ก็ไม่มีประโยชน์ ผมไม่ได้บอกว่าการเรียนดนตรีของเด็ก ๆ ไม่มีประโยชน์ แต่ผมคิดว่าถ้าคุณต้องการเล่นดนตรีหรืออยากเป็นนักดนตรี ความรู้สึกนั้นควรสัมผัสได้จากใจมากกว่า เพราะไม่มีใครรู้ใจตัวเองได้ดีเท่าคุณกำลังทำสิ่งที่ใช่หรือไม่ ผมแนะนำได้แค่ว่าถ้าคุณอยากเรียนและเล่นดนตรีแนวไหนก็ควรเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง ทั้งคลาสสิก แจ๊ส ป๊อป เพราะทุกแนวต่างมีคุณค่าของตัวเอง ดนตรีควรเป็นเรื่องของความสนุก และได้แบ่งปันความสุขให้คนฟัง ผมยอมรับว่าการเป็นนักดนตรียากเหมือนกัน คุณต้องชอบและทุ่มเทฝึกฝนทุกวัน ผมมีประสบการณ์เรื่องนี้โดยตรง ผมอยากทำดนตรี อยากเล่นดนตรี จนกระทั่งหมดลมหายใจ ซึ่งเป็นแรงผลักดันในการทำดนตรีมาโดยตลอด
แฟรงค์ ซิเนตร้า เปรียบได้กับไอคอนของวงการเพลงแจ๊ส คุณชอบเพลงไหนของเขามากที่สุด
ผมชื่นชอบวิธีการทำเพลงของแฟรงค์ เขาเป็นอัจฉริยะด้านดนตรี การทำเพลงของเขาคือการสร้างคอร์ดที่ยาวกว่าปกติ ส่วนใหญ่เพลงจะมีแค่คอร์ดเดียว แต่ของเขามีมากกว่านั้น ทำให้เพลงของเขามีลูกเล่น มีความซับซ้อนในการสร้างสรรค์ โดยเฉพาะเวลาที่เราได้ยินเขาร้องจึงมีความแตกต่างจากนักร้องแจ๊สคนอื่น ผมคิดว่าไม่ค่อยมีคนพูดถึงเรื่องนี้ของเขามากนัก ส่วนใหญ่คิดว่าเขาเป็นแค่นักร้องเพลงแจ๊สชื่อดัง แต่จริง ๆ เขาเป็นนักดนตรีแจ๊สเต็มรูปแบบ ซึ่งเขาสร้างสรรค์กระบวนการทำงานของตัวเองด้วย
คุณคิดอย่างไรกับวงการดนตรีแจ๊สในเอเชีย
จากการที่ผมต้องเดินทางบ่อย ผมรับรู้ว่าดนตรีแจ๊สไม่ได้มีสไตล์เดียวที่ตายตัว แต่มีการต่อยอดนำแจ๊สไปผสมกับแนวอื่น เช่น อิเล็กทรอนิกส์แจ๊ส ฟิวเจอร์แจ๊ส มีการสร้างสรรค์แนวใหม่ ๆ ออกมา แต่ยังใช้แจ๊สเป็นพื้นฐาน ซึ่งเหมือนกันทั่วโลก โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่นมีเฟสติวัลแจ๊สโดยตรง เพราะประเทศนี้ผู้คนหลงรักเพลงแจ๊สอย่างจริงจัง เหมือนกับที่เกาหลีใต้ เพราะสมัยนี้เด็กรุ่นใหม่หันมาฟังเพลงแจ๊สเยอะขึ้น ผมดีใจนะ เพราะสิ่งนี้อาจทำให้มีการแจ้งเกิดของนักดนตรีแจ๊สรุ่นใหม่
Credit:
OK! 266 ฉบับเดือนมกราคม 2559
© Copyright 2016. All rights reserved.