ปริมาณคอเรสเตอรอลที่สูงจนเกินไปอาจทำให้คุณกลายเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้ แน่นอนว่าการรับประทานอาหารที่มีปริมาณคอเรสเตอรอลสูงส่งผลเสียต่อร่างกายเราได้เป็นอย่างมาก แต่ทว่าร่างกายของเรายังคงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้คอเรสเตอรอลในร่างกายอยู่ ดังนั้นในบทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับคอเรสเตอรอลที่มีอยู่ในร่างกายและที่สะสมอยู่ในอาหารให้มากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจและปรับรูปแบบการรับประทานอาหารให้เหมาะสมและสมดุลกับการใช้งานในร่างกายของเราค่ะ
ทำความเข้าใจคอเรสเตอรอลคืออะไร
คอเรสเตอรอลจัดเป็นไขมันชนิดหนึ่งที่อยู่ในรูปของไขและพบในร่างกายของสิ่งมีชีวิต คอเรสเตอรอลเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ที่พบทั้งในเซลล์พืชและเซลล์สัตว์ ประโยชน์ของคอเรสเตอรอลนั่นจะช่วยทำให้เซลล์ของสิ่งมีชีวิตมีความยืดหยุ่นและอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของคอเรสเตอรอลคือช่วยสังเคราะห์ฮอร์โมนสำคัญให้กับร่างกายของเรา ได้แก่ สเตียรอยด์ฮอร์โมน กลูโคคอร์ติคอยด์ มินเนอราโลคอร์ติคอยด์ และฮอร์โมนเพศ ซึ่งโดยปกติแล้วในร่างกายของเรานั้นจะมีการสังเคราะห์คอเรสเตอรอลขึ้นจากบริเวณตับ แต่เราสามารถรับเอาคอเรสเตอรอลเข้าสู่ร่างกายได้จากการบยริโภคเนื้อสัตว์ ได้แก่ เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว หรือกลุ่มผลิตภัณฑ์จากไขมันสัตว์นั่นเองค่ะ
คลอเรสเตอรอลในร่างกายของเรานั้นมี 2 ชนิด ได้แก่ LDL และ HDL แต่ก่อนที่จะไปอธิบายเราลองไปดูประโยชน์และหน้าที่สำคัญของคอเรสเตอรอลในร่างกายเราก่อนดีกว่าค่ะ
บทบาทของคอเรสเตอรอลในร่างกายเรา
เชื่อว่าหลายคนคงคิดว่าคอเรสเตอรอลนั้นส่งแต่ผลเสียให้กับร่างกายของเราเพียงเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามคอเรสเตอรอลยังมีประโยชน์ต่อร่างกายของเราหลายประการ ดังนี้
- คอเรสเตอรอลมีบทบาทสำคัญในโครงสร้างของเยื่อหุ้มเซลล์ในสิ่งมีชีวิต โดยคอเรสเตอรอลจะแทรกตัวอยู่ที่บริเวณชั้นไขมันซึ่งเป็นโครงสร้างหลักหรือที่เรียกว่า ฟอสโฟลิพิด ช่วยทำให้โครงสร้างของเยื่อมหุ้มเซลล์นั้นมีความเป็นของเหลวและเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับโครงสร้าง นอกจากนี้เซลล์ของสิ่งมีชีวิตยังต้องการคอเรสเตอรอลเพื่อปรับสภาพตามอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย
- คอเรสเตอรอลนั้นจำเป็นต่อการสังเคราะห์ฮอร์โมนที่สำคัญต่อร่างกายของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด ซึ่งรวมถึงฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งจัดเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียด ตลอดจนฮอร์โมนเพศ ได้แก่ เอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน และเทสโทสเทอโรน
- ในตับต้องการคอเรสเตอรอลเพื่อสร้างน้ำดี น้ำย่อยสำคัญที่ช่วยทำให้ไขมันแตกตัวใหม้เป็นโมเลกุลที่มีขนาดเล็กลงนั่นเอง
- ในเซลล์ของระบบประสาทคอเรสเตอรอลมีบทบาทสำคัญในการเป็นฉนวน
- ร่างกายของเราต้องการคอเรสเตอรอลเพื่อสังเคราะห์วิตามิน D เช่น วิตามินดีที่เรามักจะพูดเสมอว่าได้รับจากแสงแดดนั้น คอเรสเตอรอลทำหน้าที่เปลี่ยนรูปของแสงแดดให้มาเป็นวิตามิน D
เห็นหรือไม่ว่าแม้ว่าสิ่งที่เรามองว่าจะไม่น่ามร้างประโยชน์ให้กับร่างกายของเรา แท้จริงแล้วมีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญกับร่างกายของเราเป็นอย่างมาก
ความแตกต่างของคอเรสเตอรอลชนิดที่ดีและชนิดที่ไม่ดี
คุณผู้อ่านเคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่า… หากคอเรสเตอรอลมีประโยชน์ต่อร่างกายของเราอย่างที่ได้อธิบายไปข้างต้นแล้ว แต่ทำไมถึงได้มีการพูดถึงอยู่บ่อยครั้งโดยที่กรมสาธารณสุขออกมาเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง?
ปกติแล้วตับของเรานั้นจะเก็บคอเรสเตอรอลในรูปแบบที่เรียกว่า ลิโพโปรตีน (Lipoproteins) คือการรวมตัวกันของไขมันกับโปรตีน ซึ่งลิโพโปรตีนจะทำงานโดยจับกับโมเลกุลของคอเรสเตอรอลไปทำหน้าที่ต่าง ๆ ผ่านกระแสเลือดภายในเซลล์ที่ต้องการ โดยคอเรสเตอรอลมีอยู่ 2 ประเภทหลักดังนี้
- LDL: Low Density Lipoproteins หรือที่เรามักเรียกกันจนติดปากว่า ‘ไขมันเลว’ ซึ่งสาเหตุที่เรียกคอเรสเตอรอลชนิดนี้ว่าเป็นไขมันเลวนั้นเนื่องมาจากความจริงที่ว่าคอเรสเตอรอลชนิดแอลดีแอลนี้สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจได้ เนื่องจาก LDL นั้นมีปริมาณคอเรสเตอรอลมากกว่าโปรตีนทำให้มีน้ำหนักเบา ปกติแล้ว LDL จะถูกลำเลียงอยู่ในกระแสเลือดและนำเอาคอเรสเตอรอลไปยังเซลล์ที่ต้องการใช้งาน และเมื่อใดที่เกิดการออกซิไดซ์ LDL สามารถเพิ่มความสามารถให้เกิดการอักเสบและทำให้ไขมันสะสมเพิ่มมากยิ่งขึ้นมตามผนังหลอดเลือดของหัวใจและส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย โดยจะสะสมในรูปแบบของแผ่นไขมันหนาๆ ซึ่งสามารถเพิ่มความหนาขึ้นได้เรื่อย ๆ ตามพฤติกรรมการบริโภคอาหารนั่นเองค่ะ
ทั้งนี้ทางการแพทย์โดยปกติแล้วร่างกายของเราควรจะมีระดับของคอเรสเตอรอล LDL ต่ำกว่า 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และผู้ที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดอุดตันและโรคเบาหวานควรมีระดับของ LDL ต่ำกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- HDL: High Density Lipoproteins หรือที่รู้จักกันในชื่อของ ‘ไขมันดี’ นำหนักของคอเรสเตอรอลชนิดเอชดีแอลนี้จะมากกว่าของชนิดแอลดีแอล เนื่องจากมีปริมาณของโปรตีนมากกว่าคอเรสเตอรอลนั่นเองค่ะ สาเหตุที่ว่าคลอเรสตอรอลชนิด HDL นี้ดีกว่าก็เนื่องมาจากรูปแบบการทำงานของ HDL ที่จะคอยนำเอาคอเรสเตอรอลที่มีอยู่ในเซลล์ไปยังที่บริเวณตับของเรา หากร่างกายของเรานั้นมีปริมาณของ HDL สูงจะส่งผลดีต่อร่างกายโดยช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดอุดตันนั่นเองค่ะ
ปริมาณของ HDL ในผู้ชายควรอยู่ในระดับที่สูงกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และในผู้หญิงควรอยู่ในระดับที่สูงกว่า 55 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
เชื่อว่าหลายคนน่าจะเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แม้ว่าคอเรสเตอรอลจะมีประโยชน์ต่อร่างกายเรามากเพียงใด แต่ก็ยังมีคอเรสเตอรอลอีกหนึ่งชนิดที่ดูจะไม่ได้ส่งผลดีต่อร่างกายของเราแต่อย่างใด ดังนั้นการเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันดีอยู่มากกว่าไขมันเลว ย่อมส่งผลดีต่อร่างกายของเราได้มากกว่าค่ะ
วิธีการป้องกันและควบคุมไม่ให้ระดับคอเรสเตอรอลในเลือดสูงเกินไป
ปริมาณคอเรสเตอรอลในร่างกายไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นคนอ้วนหรือผอม พฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของการมีระดับคอเรสเตอรอลในเลือดที่สูง ยิ่งปัจจุบันนี้มีบริการของฟู้ดเดลิเวอรี่ที่สะดวกและรวดเร็ว แถมยังไม่ต้องเดินทางไปที่ร้านอาหารให้เสียเวลา ดังนั้นพฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนไทยเราจึงเริ่มเปลี่ยนไป ส่วนใหญ่แล้วมักจะเปลี่ยนไปตามทิศทางหรือกระแสของคนดัง เมื่อรีวิวร้านไหนดีหรือเด็ดก็มักจะแห่กันไปรั่บประทานอาหารจากร้านนั้น ซึ่งบางทีการบริโภคอาหารที่คำนึงถึงเพียงแค่รสชาตินั้นไม่ได้ส่งผลดีต่อร่างกายของคุณอย่างแน่นอน
การกินถือเป็นปัจจัยหลักของการเพิ่มระดับคอเรสเตอรอลทั้งดีและไม่ดีเข้าสู่ร่างกายของคุณ ดังนั้นการควบคุมพฤติกรรมการรับประทานอาหารของคุณจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเราได้รวบรวมสิ่งที่คุณผู้อ่านควรทำมาฝากไว้ดังนี้
- เลือกรับประทานอาหารที่มีปริมาณของไขมันอิ่มตัวน้อย ซึ่งไขมันชนิดนี้จะถูกพบในกลุ่มของอาหารที่ทำมาจากไขมันสัตว์ แต่อย่างไรก็ตามอาหารในกลุ่มนี้ก็มีประเภทที่ยกเว้นและรับประทานได้แต่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของเราอยู่ ได้แก่ โยเกิร์ตไขมันล้วน ปลาที่มีไขมันสูง และชีส เป็นต้น แต่เมนูที่ไม่ควรรับประทานและหลีกเลี่ยง คือ เมนูเนื้อสัตว์แปรรูป ได้แก่ ไส้กรอก ซาลามี เบคอน เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเมนูอาหารที่มีหนังสัตว์และเนยเป็นวัตถุดิบอีกด้วย
- เลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวสูงแทนหรือลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันทุกชนิดสูง เพราะแม้ว่าเราจะรับประทานอาหารที่มีไขมันดีสูงแค่ไหน แต่หากร่างกายของคุณไม่ได้มีการเผาผลาญพลังงานตามที่ได้รับเข้าไป มันก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายของคุณแทน
- รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผักและผลไม้ประเภทต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ซึ่งคอเรสเตอรอลบางชนิดก็สามารถขับออกจากร่างกายผ่านของเสียได้เช่นเดียวกัน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 วัน/สัปดาห์ การออกกำลังกายไม่จำเป็นที่จะต้องไปที่ออกที่ยิมหรือฟิตเนสเสมอไป และก็อีกเช่นกันที่ไม่จำเป็นจะต้องออกกำลังกายอย่างหนักหน่วงเกินความจำเป็นของร่างกายคุณ การออกกำลังกายทำเพื่อสร้างสมดุลและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเตาเผาของร่างกายเราเท่านั้น เตาเผาที่ว่านี้ก็คือระบบเผาผลาญนั่นเองค่ะ
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์และงดสูบบุหรี่ ภัยร้ายที่ร้ายมากสำหรับหลายๆ โรคก็คือแอลกอฮอลล์และบุหรี่ ซึ่งทุกท่านทราบดีอยู่แล้วว่าเจ้าสองตัวนี้ร้ายต่อร่างกายของคุณแค่ไหน แต่หลายคนก็ยังเลือกที่จะไม่สนใจอยู่ ดังนั้นสำหรับทุกท่านที่กำลังวางแผนสุขภาพให้ตัวเองหรือคนใกล้ตัว สิ่งแรกที่ควรจะตัดทิ้งเลยก็คือแอลกอฮอลล์และบุหรี่ค่ะ
คำแนะนำที่เรารวบรวมมานี้เป็นเพียงข้อแนะนำเล็ก ๆ ที่ทุกท่านสามารถปฏิบัติตามได้ไม่อยาก แต่หากว่าผู้อ่านคนใดมีข้อเสนอเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตัวเพิ่มเติม สามารถนำเสนอและแลกเปลี่ยนกันได้ที่คอมเม้นต์ด้านล่าค่ะ
โรคต่างๆที่มาพร้อมกับคอเรสเตอรอล
โรคร้ายที่มาพร้อมกับพฤติกรรมการกินที่ใส่ใจน้อย ซึ่งตอนนี้เรากำลังพูดถึงคอเรสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีอยู่นะคะ LDL คอเรสเตอรอล สามารถนำโรคร้ายมากมายมาหาคุณได้ ได้แก่ โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง ภาะวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ และโรคเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน
เห็นไหมคะว่า… โรคส่วนใหญ่ที่มี่สาเหตุมาจากคอเรสเตอรอลนั้นจะส่งผลเสียทันทีต่อสมองและหลอดเลือดของคุณ เนื่องจากคอเรสเตอรอลจะถูกลำเลียงผ่านหลอดเลือดไปยังบริเวณตับหรือจากบริเวณตับไปยังเซลล์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้งานนั่นเองค่ะ ดังนั้นโรคส่วนใหญ่จึงส่งผลเสียทันทีต่อหลอดเลือดที่ทำหน้าที่เป็นาตัวลำเลียงคอเรสเตอรอล
บทส่งท้ายคอเรสเตอรอลภัยร้ายนักกิน
ระดับคอเรสเตอรอลจะเพิ่มสูงขึ้นได้มีปัจจัยได้อยู่ 2 ประการ คือ ตับของเราผลิตขึ้นมามากจนเกินไป (ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก) และการรับประทานอาหารที่มีคอเรสเตอรอลสูง ได้แก่ อาหารที่มีกรดไขมันชนิดอิ่มตัวสูง และไม่ได้ออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญคอเรสเตอรอลส่วนเกิน เมื่อปริมาณคอเรสเตอรอลที่สูงจนเกินไปในร่างกายส่งผลให้คอเรสเตอรอลชนิด LDL (ไขมันเลว) ไปสะสมตามผนังหลอดเลือดและส่งผลให้เกิดการอุดตันตามมา ดังนั้นหากเพื่อนๆ นั่งอ่านทั้งหลายไม่ได้อยากมีโรคประจำตัวตั้งแต่ยังอายุน้อย เพื่อนๆ ควรใส่ใจกับพฤติกรรมการรับประทานาอาหารของตัวเองและใส่ใจกับคุณค่าของสารอาหารในแต่ละเมนูที่เลือกทานอยู่เสมอ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เรามีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากไขมันส่วนเกินได้แล้วค่ะ